แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบันทึกข้อตกลงการหย่าและแบ่งสินสมรส ฝ่ายชายให้บุตรทั้งสองอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของฝ่ายหญิงเพียงผู้เดียว ฝ่ายชายจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสินสมรสทั้งหมดที่ได้ยกให้แก่บุตรทั้งสอง สินสมรสที่มีชื่อฝ่ายชายถือกรรมสิทธิ์ผู้เดียว ฝ่ายชายก็จะโอนเปลี่ยนชื่อให้เป็นชื่อฝ่ายหญิงเป็นผู้ครอบครองแทนบุตรทั้งสอง ในส่วนสินสมรสใดซึ่งหากตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้แล้ว ฝ่ายชายตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองคนต่อไปในทันที ก็หมายถึง สินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายชายเท่านั้น หาได้มีข้อความระบุถึงสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังแล้วฝ่ายหญิงตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองแต่อย่างใดไม่ และไม่ได้หมายถึงสินสมรสของทั้งสองฝ่ายดังเช่นที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงที่มีรายละเอียดของสินสมรสที่คู่สัญญาทั้งสองตกลงยกให้แก่บุตรทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงในส่วนที่เป็นสินสมรสของฝ่ายชายคือจำเลยที่ 1 ได้นำไปให้จำเลยที่ 2 แล้ว คงเหลือสินสมรสส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งไม่ได้ตกอยู่ในบังคับข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิติดตามเอาสินสมรสส่วนนี้มาเป็นของตนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 6,840,278.03 บาท คืนแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการให้โดยเสน่หาซึ่งเงิน 6,840,278.03 บาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินดังกล่าวคืนกลับเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามเดิม พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2558) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระคืนเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมชำระเงิน 3,420,139 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2558) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,420,139 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2558) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายพีรณัฐ และเด็กหญิงอภิชญา บุตรทั้งสอง ทั้งนี้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินในส่วนของต้นเงินดังกล่าว รวมกันแล้วทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 6,840,278.03 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการให้โดยเสน่หาเงินจำนวน 3,420,139 บาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 3,420,139 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2558) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่นายพีรณัฐ และเด็กหญิงอภิชญา เสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายพีรณัฐ ปัจจุบันอายุ 16 ปีเศษ และเด็กหญิงอภิชญา ปัจจุบันอายุ 13 ปีเศษ ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม 2557 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่ากัน และทำบันทึกข้อตกลงของการหย่าและแบ่งสินสมรสกันว่า ในส่วนสินสมรสใดซึ่งหากตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้แล้วนั้น ฝ่ายชายตกลงว่านำมายกให้แก่บุตรทั้งสองต่อไปในทันที ในระหว่างสมรสจำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินอันเป็นสินสมรสจากบัญชีเงินฝากธนาคารซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี จำนวน 3 บัญชี และจำเลยที่ 1 ได้โอนเงินดังกล่าวไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เพื่ออุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ฉันภริยาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำนวนหลายครั้งรวมเป็นเงิน 6,840,678.03 บาท โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินดังกล่าวคืนโจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นสินสมรสที่โจทก์และจำเลยที่ 1 มีสิทธิคนละครึ่งหนึ่งของเงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนได้ จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิในเงินที่จำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 จากเงินจำนวนดังกล่าวครึ่งหนึ่ง คือ 3,420,139 บาท โจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งแต่อย่างใด ดังนั้น เงินจำนวน 3,420,139 บาท ในส่วนที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องคืนให้โจทก์ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จำต้องคืนเงินส่วนที่เป็นสินสมรสครึ่งหนึ่งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเงินจำนวน 3,420,139 บาท อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นสินสมรสในส่วนที่เป็นสิทธิของโจทก์นั้นถือเป็นสินสมรสที่พบในภายหลังจากการทำบันทึกข้อตกลง จึงต้องยกให้แก่บุตรทั้งสอง เห็นว่า เมื่อพิจารณาบันทึกข้อตกลงของการหย่าและแบ่งสินสมรสทั้งฉบับแล้ว ฝ่ายชายให้บุตรทั้งสองอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของฝ่ายหญิงเพียงผู้เดียว ฝ่ายชายจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสินสมรสทั้งหมดที่ได้ยกให้แก่บุตรทั้งสอง ซึ่งสินสมรสตามข้อ 3 ทั้งหมด คู่สมรสทั้งสองฝ่ายตกลงยกให้แก่บุตรทั้งสอง ในระหว่างที่บุตรทั้งสองยังไม่บรรลุนิติภาวะ ฝ่ายชายตกลงยินยอมให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้มีอำนาจดูแลในสินสมรสตามข้อ 3 ทั้งหมด สินสมรสที่มีชื่อฝ่ายชายถือกรรมสิทธิ์ผู้เดียว ฝ่ายชายก็จะโอนเปลี่ยนชื่อให้เป็นชื่อฝ่ายหญิงเป็นผู้ครอบครองแทนบุตรทั้งสอง ส่วนบันทึกข้อตกลง ข้อที่ 9 ที่ระบุว่า ในส่วนสินสมรสใดซึ่งหากตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้แล้วนั้น ฝ่ายชายตกลงว่าจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองคนต่อไปในทันทีนั้น ก็หมายถึง สินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายชายเท่านั้น ถ้าตรวจสอบพบในภายหลังฝ่ายชายก็จะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองทันที หาได้มีข้อความระบุถึงสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังแล้วฝ่ายหญิงตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองแต่อย่างใดไม่ และไม่ได้หมายถึงสินสมรสของทั้งสองฝ่าย ดังเช่นที่ได้ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลง ข้อที่ 4 ที่มีรายละเอียดของสินสมรสใดบ้างที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างตกลงยกให้แก่บุตรทั้งสอง ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงในส่วนที่เป็นสินสมรสของฝ่ายชายคือจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ได้นำไปให้จำเลยที่ 2 แล้ว คงเหลือสินสมรสส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งไม่ได้ตกอยู่ในบังคับข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิติดตามเอาสินสมรสส่วนนี้มาเป็นของตนได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกเงินอันเป็นสินสมรสส่วนของตนคืนจากจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 3,420,139 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงเป็น 3,420,139 บาท ที่จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาเป็นเงิน 136,805 บาท จึงเสียเกินมา 68,402 บาท ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่จำเลยที่ 2
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยที่ 2 เสียเกินมา 68,402 บาท แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ