แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ. ฟ้อง บ. หาว่าบุกรุกที่นามือเปล่าของตน ขอให้ห้ามมิให้เกี่ยวข้อง บ. ต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของ บ.ในระหว่างพิจารณา ศาลสั่งให้ประมูลค่าเช่านาพิพาทสำหรับปีนั้น(พ.ศ.2496) ฝ่ายใดให้ค่าเช่าสูงก็จะได้ทำนา ให้นำเงินค่าเช่ามาวางศาลไว้ชำระให้ผู้ชนะคดี พ.เป็นฝ่ายประมูลได้ ได้เข้าทำนาพิพาท ปีต่อมาพ.ก็ทำนาพิพาทอีกโดยไม่ยอมประมูลค่าเช่าและเป็นฝ่ายทำนาพิพาทตลอดมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อ พ.ศ.2500 ซึ่งวินิจฉัยว่าฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทเป็นของ พ. พิพากษายืนให้ยกฟ้อง วันที่ 10 ตุลาคม 2503 บ. จึงร้องต่อศาลว่า พ.ยังไม่ออกจากที่พิพาท ขอให้เรียกมาว่ากล่าวพ.แถลงว่าที่พิพาทเป็นของพ. โดยทางครอบครองปรปักษ์แล้วตั้งแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลให้ บ. ทราบ ดังนี้ การที่ พ. ครอบครองที่พิพาทในระหว่างเป็นความกันอยู่ จะถือว่าครอบครองโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนไม่ได้ การที่ได้เข้าครอบครองใน พ.ศ.2496 ก็โดยการประมูลทำนาได้คือ โดยความยินยอมของ บ. ค่าเช่าที่วางศาลก็เพื่อให้แก่ผู้ชนะคดี จึงถือว่าเข้าครอบครองแทนผู้ชนะคดีนั่นเอง เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้องของ พ. แม้จะไม่ได้ชี้ว่าที่พิพาทเป็นของ บ. แต่ พ. ก็ เถียงไม่ได้ว่า บ. ไม่ได้เป็นเจ้าของที่พิพาท เพราะผลของคำพิพากษาย่อมผูกพัน พ. ว่า บ. มี สิทธิในที่พิพาทดีกว่า การที่ พ. ครอบครองที่พิพาทภายหลังจากวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ก็เป็นการครอบครองสืบต่อมาจากการครอบครองในระหว่างคดี ต้องถือว่าครอบครองแทน บ.ผู้ชนะคดีอยู่นั่นเอง จะครอบครองช้านานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ในเมื่อ พ.มิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือหรืออาศัยอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอก พ. จะอ้างอายุความการแย่งการครอบครองตามมาตรา 1375 มาใช้ยัน บ.ไม่ได้ บ.มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง
การที่ พ. เข้าทำนาพิพาทนับแต่ พ.ศ.2497 นั้น มิได้ตกลงประมูลค่าเช่ากับ บ. อีกจึงไม่ใช่เนื่องจากสัญญา แต่ก็ไม่เป็นการละเมิด เพราะเข้าครอบครองทำนาพิพาทด้วยความยินยอมของ บ. มาแต่ พ.ศ.2496 และการครอบครองในปีต่อๆ มา ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทน บ.ผู้ชนะคดี การที่ บ. ฟ้องเรียกเงินผลประโยชน์ในการที่ พ. ได้ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ ปี พ.ศ.2497เป็นต้นไปนั้น จึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 เพราะการที่ พ. ได้รับประโยชน์จากการเข้าทำนาพิพาทซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นของ บ. นั้น เป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่ บ.ต้องฟ้องเรียกเอาภายใน กำหนด 1 ปี นับแต่สิ้นฤดูเก็บเกี่ยวของแต่ละปี ซึ่ง บ. ย่อมจะรู้ได้แล้วว่าผู้ทำนาได้รับประโยชน์จากการทำนาเท่าใด ส่วนเงินผลประโยชน์สำหรับระยะเวลาที่พ้นกำหนด 1 ปีแล้ว ย่อมขาดอายุความเรียกคืน
ย่อยาว
คดีได้ความว่า จำเลยเคยฟ้องโจทก์ตามคดีแดงที่ 198/2497 หาว่าบุกรุกที่นาพิพาทซึ่งเป็นที่มือเปล่า ขอให้ห้ามมิให้เกี่ยวข้องโจทก์ให้การว่านาพิพาทเป็นของโจทก์ ในระหว่างพิจารณา โจทก์ร้องว่าจำเลยขัดขวางมิให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาท ศาลสั่งให้ประมูลค่าเช่านาพิพาทเฉพาะปีนั้น คือ พ.ศ. 2496 จำเลยประมูลได้โดยให้ค่าเช่า 1,000 บาท และได้วางเงินค่าเช่าต่อศาล ๆ จึงให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่นาพิพาท ใน พ.ศ. 2497 โจทก์ขอให้ประมูลอีกจำเลยว่าปีนี้จำเลยเข้าทำนาแล้ว จึงไม่ติดใจประมูล ศาลสั่งว่าคำขอของโจทก์ คดีนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของจำเลย ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ร้องอีกว่า จำเลยเข้าแย่งทำนาพิพาทขอให้ห้ามจำเลยหรือให้มาตกลงเรื่องผลประโยชน์ในที่นาพิพาท จำเลยรับว่าเข้าทำนาจริง และไม่ยอมออก คดีนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนและต่อมาศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่า ตามหลักฐานพยานจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าที่นาพิพาทเป็นของจำเลย พิพากษายืน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2500 ฝ่ายโจทก์ไม่ไปศาลศาลสั่งว่าถือว่าโจทก์ได้ฟังแล้ว วันที่ 12 พฤษภาคม 2503 โจทก์ขอคำบังคับให้จำเลยใช้ค่าทนาย วันที่ 10 ตุลาคม 2503 โจทก์ร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ศาลฎีกาพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยยังไม่ยอมออกจากที่นาพิพาทขอให้ ขอให้เรียกมาว่ากล่าวให้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล จำเลยแถลงว่าที่นาพิพาทเป็นของจำเลยโดยทางครอบครองปรปักษ์นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ศาลให้โจทก์ทราบโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อ 20 มีนาคม 2504 โดยกล่าวด้วยว่าในปีต่อมาจำเลยคงทำนาพิพาทโดยอาศัยสิทธิการประมูลค่าเช่าในปีพ.ศ. 2496 บัดนี้ จำเลยไม่ยอมออกไปจากนาพิพาท และไม่ชำระค่าเช่ามา 7 ปี ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่นาพิพาทเป็นของโจทก์ ให้ขับไล่จำเลยกับบริวาร ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยคิดตามอัตราค่าเช่าที่ประมูลปีละ 1,000 บาท รวม 7,000 บาท
จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยทำนาพิพาทตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ถึง 2504 รวม 1 ปี โดยเจตนายึดถือเพื่อตนเอง แม้การทำนาตั้งแต่พ.ศ. 2497 ถึง 15 สิงหาคม 2500 เป็นการครอบครองทรัพย์ระหว่างคดีแต่การทำนาพิพาทตั้งแต่ 16 สิงหาคม 2500 ตลอดถึง พ.ศ. 2504 จำเลยเจตนายึดถือเป็นของตนเอง จำเลยได้สิทธิครอบครองที่นาพิพาทคดีโจทก์ยกอายุความฟ้องเรียกคืน ค่าเสียหาย คดีก็ขาดอายุความหากเรียกได้ ก็เพียงปีเดียว คือสำหรับ พ.ศ. 2503
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีที่จำเลยฟ้องโจทก์หาว่าบุกรุกที่พิพาทนั้น จำเลยแพ้โจทก์ จำเลยจะอ้างอายุความแย่งการครอบครอง1 ปีมาใช้ไม่ได้ เพราะโจทก์มีสิทธิบังคับคดีภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ส่วนค่าเช่าโจทก์มีสิทธิเรียกได้ 1 ปี คือ พ.ศ. 2503 นอกนั้นขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 พิพากษาห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่นาพิพาทต่อไป และให้ใช้ค่าเสียหาย 1,000 บาทแก่โจทก์
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 จำเลยเข้าทำนาพิพาทในลักษณะเป็นการยึดถือแทนผู้ชนะคดีในที่สุด ต่อจากวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา แม้จำเลยจะยังคงครอบครองที่นาพิพาทอยู่ ลักษณะการยึดถือแทนโจทก์ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปได้ จะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มายันโจทก์ไม่ได้ ผลที่สุดพิพากษายืนและมีผู้พิพากษานายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาจำเลยว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีแดงที่198/2497 การครอบครองที่นาพิพาทของจำเลยในระหว่างเป็นความต่อสู้กันอยู่ จะถือว่าจำเลยครอบครองโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหาได้ไม่การที่จำเลยครอบครองใน พ.ศ. 2496 ก็โดยประมูลทำนาได้ คือ โดยความยินยอมของโจทก์ ค่าเช่าที่วางต่อศาลก็เพื่อให้แก่ผู้ชนะคดีในที่สุด จึงถือได้ว่าจำเลยเข้าครอบครองที่นาพิพาทแทนผู้ชนะคดีในที่สุดนั่นเอง เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลยกฟ้องจำเลย แม้ศาลฎีกาจะไม่ได้ชี้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยก็เถียงไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของนาพิพาท เพราะผลของคำพิพากษาฎีกาย่อมผูกพันจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย ค่าเช่านาที่จำเลยวางไว้ก็ตกเป็นของโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของที่นาพิพาท
การครอบครองที่นาพิพาทหลังวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็เป็นการครอบครองสืบต่อมาจากการครอบครองในระหว่างคดี ต้องถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ผู้ชนะคดีอยู่นั่นเอง จำเลยจะครอบครองช้านานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง เว้นแต่จำเลยจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือครอบครองไปยังโจทก์ หรือมีอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอก จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัย
เมื่อการครอบครองของจำเลยเป็นการครอบครองแทนโจทก์ผู้ชนะคดีจำเลยจะอ้างอายุความการแย่งครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาใช้ยันโจทก์ไม่ได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ภายใน 10 ปีนั้น เห็นว่า การที่จำเลยเข้าทำนาพิพาทใน พ.ศ. 2497 โดยไม่ยอมประมูลค่าเช่าอีก ย่อมแสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะทำนาพิพาทโดยตกลงประมูลค่าเช่ากับโจทก์อีก การทำนาพิพาทตั้งแต่ พ.ศ. 2497 เป็นต้นมาจึงไม่ใช่เนื่องจากสัญญา และไม่เป็นการละเมิด เพราะจำเลยเข้าครอบครองด้วยความยินยอมของโจทก์มาแต่ พ.ศ. 2496 และการครอบครองในปีต่อ ๆ มา ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ผู้ชนะคดีกรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406เพราะการที่จำเลยได้รับประโยชน์จากการเข้าทำนาพิพาทซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นของโจทก์ เป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกคืนจากจำเลย ซึ่งศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้เท่าค่าเช่าที่โจทก์จำเลยเคยตกลงกัน คือ ปีละ 1,000 บาท
มีปัญหาต่อไปว่า โจทก์จะมีสิทธิเรียกเงินผลประโยชน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ถึง พ.ศ. 2503 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวการทำนาแต่ละปี เจ้าของนาก็ย่อมจะรู้ได้ว่า ผู้ทำนาได้รับประโยชน์จากการทำนาเท่าใด ฉะนั้นสิทธิเรียกร้องคืนของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2497 ถึง พ.ศ. 2502 จึงขาดอายุความ เพราะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่โจทก์รู้ว่าจำเลยได้รับลาภมิควรได้ไว้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419) โจทก์คงมีสิทธิเรียกเงินผลประโยชน์สำหรับ พ.ศ. 2503 คืนจากจำเลยเพียงปีเดียว
พิพากษายืน