คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101-102/2470

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีไม่มีสิทธิจะยกสมรสของภรรยาให้แก่ผู้ใด โดยภรรยาไม่รู้เห็น

ย่อยาว

คดีนี้พิภาษกันด้วยเรื่องทรัพย์มฤดกของขุนพานิชซึ่งโจทย์ของให้ศาลทำลายหนังสือสัญญาโอนขายโรงสีให้แก่จำเลย เพราะเปนสัญญาอยุติธรรม ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งมีสติหลงไหล แลทั้งไม่มีสินจ้าง แลขอให้เรียกแหวนเพ็ชร์ ๒ วงที่ตกอยู่แก่จำเลยมาแบ่งเปนมฤดก
ข้อเท็จจริงในเรื่องโรงสีปรากฎว่า ขุนพานิชได้โจทย์ทั้ง ๒ เปนภรรยา ขุนพานิชมีสินเดิม ๑๖,๐๐๐ บาท กับที่ดินราคา ๑,๐๐๐ บาท เมื่อขุนพานิชได้โจทย์ทั้ง ๒ เปนภรรยาแล้ว ขุนพานิชเอาเงิน ๑๔,๐๐๐ บาทกับที่ดินไปเข้าหุ้นกับ ท.สร้างโรงสีขึ้น ต่อมาขุนพานิชออกเงิน ๑๖๕,๐๐๐ บาทรับซื้อหุ้นของ ท.ไว้ทั้งหมด ก่อนน่าขุนพานิชได้จำเลยเปนภรรยาอีกคนหนึ่ง ขุนพานิชได้โอนที่ดินแลโรงสีทั้งให้แก่จำเลยด้วยความรักใคร่อยากได้จำเลยเปนภรรยา โดยโจทย์ทั้ง ๒ ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย
ศาลเดิมฟังว่า โรงสีแลที่ดินเปนสินเดิมของขุนพานิช ขุนพานิชโอนให้จำเลย ๆ มีสิทธิจะได้โรงสีนั้น ส่วนแหวนเพ็ชร์ ๒ วงนั้น เปนมฤดกของขุนพานิช ให้เอามาแบ่ง
โจทย์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ที่ดินแลโรงสีเปนสมรส ตามนัยฎีกาที่ ๘๓๑/๒๔๖๕ การที่ขุนพานิชเอาที่ดินกับโรงสีโอนขายให้แก่จำเลยด้วยความรักใคร่อยากได้จำเลยเปนภรรยานั้น ไม่ใช่โอนขายให้กับกันด้วยความอยุติธรรม ฤาความล่อลวงของจำเลย จึงไม่มีเหตุอย่างไรที่ควรทำลายหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่ขุนพานิชเอาที่ดินแลโรงสีอันเปนสมรสซึ่งโจทย์มีส่วนได้อยู่ ๑ ใน ๓ ไปโอนให้จำเลยโดยโจทย์ไม่รู้เห็นด้วย จำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในที่ดินแลโรงสีนั้น จึงพิพากษาให้เอาที่ดินแลโรงสีประมูลขายทอดตลาด แล้วหักใช้ทุนเดิมของขุนพานิชเสีย ๑๗,๐๐๐ บาท เหลือนั้นแบ่งออก ๓ ส่วนให้โจทย์เอาไปส่วนหนึ่ง อีก ๒ ส่วนกับเงิน ๑๗,๐๐๐ บาท ที่หักไว้นั้น ให้เปนของจำเลย ส่วนแหวนเพ็ชร์นั้นได้ความว่าแหวนเพ็ชร์เปนสินเดิม แลขุนพานิชได้ให้จำเลยก่อนน่าจำเลยเปนภรรยา แหวนนั้นเปนสิทธิ์แก่จำเลย
โจทย์จำเลยฎีกา สำหรับในเรื่องที่ดินแลโรงสี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุผลอย่างไรที่ควรจะทำลายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินกับโรงสี ซึ่งขุนพานิชทำให้แก่จำเล่ย เพราะสัญญาฉบับนี้ขุนพานิชได้ทำโดยสุจริตหวังจะได้จำเลยเปนภรรยา แลโจทย์สืบไม่ได้ว่าขุนพานิชได้ทำสัญญาในเวลาที่สติหลงไหล ส่วนปัญหาที่ว่าขุนพานิชจะมีอำนาจเอาที่ดินและโรงสีไปโอนให้แก่จำเลยทั้งหมดได้ฤาไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับที่ดิน ขุนพานิชมีอำนาจเด็ดขาดโอนให้แก่จำเลยได้ เพราะที่ดินเปนสินเดิมแต่โรงสีนั้นเปนสินสมรส ขุนพานิชโอนได้ฉะเพาะส่วนสมรสของตน คือ ๒ ใน ๓ เท่านั้น จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ให้ที่ดินซึ่งเปนสินเดิมของขุนพานิชเปนสิทธิแก่จำเลย ส่วนโรงสีให้เอามาประมูลฤาขายทอดตลาดพร้อมด้วยที่ดิน ได้เงินเท่าใดหักออก ๑,๐๐๐ บาทค่าที่ดินให้แก่จำเลยเสียก่อน เหลือนั้นให้หักใช้สินเดิม ๑๖,๐๐๐ บาท แล้วจึงแบ่ง ๓ ส่วน เปนสมรสของขุนพานิช ๒ ส่วน ซึ่งตกเปนของจำเลยตามหนังสือสัญญาซึ่งขุนพานิชได้ทำโอนให้แก่จำเลย สมรสอีก ๑ ส่วนเปนของโจทย์ เงินสินเดิม ๑๖,๐๐๐ บาท ให้แบ่งมฤดกได้แก่โจทย์จำเลยผู้เปนภรรยา แลบุตร์ของขุนพานิช ตามคำพิพากษาศาลเดิม (คือ แบ่งมฤดกออกเปน ๒ ภาค ภาคภรรยาแลภาคบุตร์ ภาคภรรยาให้ได้แก่โจทย์จำเลยคนละเท่า ๆ กัน ) (ประเด็นที่ว่าภรรยาคนใด ควรได้รับส่วนมฤดกเท่าใดตามฐานะของภรรยานั้น ไม่ได้มีขึ้นมาถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่ได้วินิจฉัยในข้อนี้ จึงให้แบ่งเท่า ๆ กันตามคำตัดสินศาลเดิม) ส่วนภาคบุตรให้ได้แก่บุตร์ของขุนพานิช
ส่วนแหวน ๒ วงนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเปนเดิมของขุนพานิช ขุนพานิชได้ให้แก่จำเลยด้วยความเสนหา แหวนนี้เท่ากับของหมั้น ต้องเปนสิทธิแก่จำเลย จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ในข้อนี้

Share