แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อขูดลบแก้ไขตกเติมในพินัยกรรมโดยมิได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามความใน ม. 1656 แห่ง ป.พ.พ. วรรค 2 นั้นย่อมไม่สมบูรณ์เฉพาะส่วนที่ทำไม่ถูกต้องนั้นเท่านั้น หาทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์พลอยเสียไปด้วยไม่
เมื่อคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยมีประเด็นโต้เถียงกันในข้อไม่มีพยานรับรู้รองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมด้วย ดังนี้ตามปกติโจทก์ย่อมนำพยานเข้าสืบแสดงให้เห็นว่าผู้ทำพินัยกรรมมิได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานผู้นั่งพินัยกรรมได้ แต่เมื่อโจทก์กลับจะขอสืบว่าลายพิมพ์นิ้วมือนั้นจะใช่ของผู้ทำพินัยกรรมหรือไม่ก่อนและจะขอสืบในประเด็นข้อนี้เพียงข้อเดียวเท่านั้น (รายงานพิจารณา 1 พ.ค.96) ดังนี้ก็เป็นอันว่าโจทก์ไม่ติดใจขอสืบพยานในประเด็นที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมจะได้พิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าผู้นั่งพินัยกรรมหรือไม่ แต่จะขอสืบว่าลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมมิใช่ของผู้ทำพินัยกรรมซึ่งโจทก์มิได้ตั้งประเด็นไว้ในฟ้องเลยเช่นนี้โจทก์สืบไม่ได้
ฎีกาที่ 1572/2492
ฎีกาที่ 982/2496
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องเพิ่มเติมฟ้องว่าโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมอันดับ ๓ ของนางต่อม เพไล จำเลยเป็นบุตรของนายก้อน เพไล ซึ่งเป็นลูกติดของนายบุญมา สามีคนที่ ๒ ของนางต่อมเกิดจากนางสุขจำเลยจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนายต่อม ๆ วายชนน์ มีทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องราคาประมาท ๓๒๐๐ บาท จำเลยนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่นามรดกของนางต่อม อ้างว่าได้รับมรดกตามพินัยกรรมของนางต่อม โจทก์เห็นว่าพินัยกรรมฉบับนั้นได้ถูกแก้ไขตกเติมข้อความหลายแห่ง โดยไม่ปรากฎมีลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมและลายมือชื่อพยานรับรองไว้เลย จึงเป็นพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์ตาม ก.ม. นอกจากนั้น พินัยกรรมมีแต่ลายพิมพ์นิ้วมือของนางต่อม ไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมของนางต้อมเป็นโมฆะ และแสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องแต่ผู้เดียว ให้จำเลยส่งทรัพย์มรดกทั้งหมาดแก่โจทก์และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยต่อสู้ว่า ตางต้อม เจ้ามรดกเลี้ยงดูจำเลยมาในฐานะบุตรบุญธรรม ข้อความในพินัยกรรมบางตอนมีการขีดฆ่าแก้ไขและตกเติม แต่หาใช่ข้อความอันเป็นสาระสำคัญจนถึงกับเปลี่ยนแปลงข้อความแห่งพินัยกรรมจนเสียความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมไม่ และการขีดฆ่าแก้ไขตกเติมนั้น ก็ได้ทำกันต่อหน้าผู้ทำพินัยกรรมและผู้ทำพินัยกรรมก็ได้ยินยอมอนุญาตแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตาม ก.ม. และพินัยกรรมตอนท้ายก็ได้ระบุไว้ชัดว่า นางต้อมได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน และยังมีข้อความบันทึกของพยานที่ได้รู้เห็นการทำพินัยกรรมและการกดพิมพ์ลายนิ้วมือของนางต้อม และพยานได้เซ็นชื่อเป็นพยานผู้นั่งพินัยกรรมไว้ถึง ๒ คน พยานทั้งสองนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางต้อมผู้ทำพินัยกรรมได้
ปรากฎตามรายงานพิจารณาว่าศาลเห็นว่าเมื่อคู่ความรับกันเกี่ยวด้วยทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องกันแล้ว หากโจทก์จะรับฟังว่าพินัยกรรมฉบับวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ เจ้ามรดกได้ทำไว้จริงแต่ไม่ถูกแบบเท่านั้นแล้ว คดีก็จะวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องแต่สืบพยานแต่ฝ่ายโจทก์แถลงว่า ยังรับในข้อนี้ไม่ได้ โดยโจทก์จะขอสืบว่าลายพิมพ์นิ้วมือของนางต้อมในพินัยกรรมนั้น จะใช่ของนางต้อมหรือไม่ก่อนและจะขอสืบในประเด็นข้อนี้เพียงข้อเดียวเท่านั้น ฝ่ายจำเลยแถลงว่าตามฟ้องของโจทก์มีข้อความชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ฟ้องว่านางต้อมเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้จริง แต่พินัยกรรมนั้นทำไม่ถูกแบบเท่านั้นโจทก์ไม่ได้ฟ้องพินัยกรรมนั้นไม่ใช่ของนางต้อมเจ้ามรดก โจทก์จึงไม่มีประเด็นสืบไปถึง ที่สุดคู่ความขอให้ศาลชี้ขาดว่า โจทก์ควรจะสืบในประเด็นที่โจทก์แถลงขอสืบได้หรือไม่ก่อน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามฟ้องโจทก์ไม่ปรากฎว่าโจทก์ประสงค์จะตั้งประเด็นว่าพินัยกรรมฉบับนี้ปลอม กล่าวคือลายพิมพ์นิ้วมือของ+พินัยกรรมดังกล่าวจะใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของนางต้อมหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีประเด็นที่จะสืบว่าลายพิมพ์นิ้วมือของนางต้อมเป็นของนางต้อมใช่หรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีประเด็นที่จะสืบในข้อนี้ ประกอบกับคู่ความแถลงไม่ขอสืบพยานในประเด็นข้ออื่นอีกเช่นนี้ คดีจึงเป็นอันไม่ต้องสืบพยานต่อไป คงเหลือปัญหาว่าพินัยกรรมจะสมบูรณ์เพียงใดหรือไม่เท่านั้น แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาว่าทรัพย์ตามพินัยกรรมข้อ ๑ หมาย ๑ และหมาย ๓ (คือทรัพย์หมาย ๑,๒,๓ ท้ายฟ้อง) เป็นมรดกได้แก่โจทก์ ทรัพย์ข้อ ๑ หมาย ๒ (คือทรัพย์หมาย ๔ ท้ายฟ้อง) ตกได้แก่จำเลยตามพินัยกรรม
โจกท์และจำเลยอุทธรณ์โดยโจกท์ยื่นอุทธรณ์แยกกันเป็น ๒ ฉบับคือทำเป็นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นฉบับหนึ่ง คัดค้านที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่ยอมให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ จึงขอสืบพยานบุคคลประกอบตามที่แถลงไว้ในรายงานพิจารณา ๑ พ.ค. ๙๖ อีกฉบับหนึ่งคัดค้านคำพิพากษาว่าไม่ถูกต้อง จำเลยอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมนั้นสมบูรณ์ ทรัพย์มรดกควรตกแก่จำเลยทั้งหมด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องอันอับ ๑,๒,๓ ย่อมตกได้แก่จำเลยตามพินัยกรรม ให้ยกฟ้องของโจทก์เสียทั้งหมด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาว่าตามความหมายใน มาตรา ๑๖๕๖ แห่ง ป.พ.พ. นั้น ข้อขูดลบแก้ไขตกเติมย่อมไม่สมบูรณ์เฉพาะส่วนที่ทำไม่ถูกต้องนั้นหาทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์พลอยเสียไปทั้งหมดด้วย ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๗๒/๒๔๙๒ ระหว่างนายเย็น โจทก์ นางคุ้ม ที่ ๑ นายเอียดที่ ๒ จำเลย และฎีกาที่ ๙๘๒/๒๔๙๖ ระหว่าง นายอินทร์ ที่ ๑ นายนวล ที่ ๒ โจทก์ นางดี หรือจันดี จำเลย
ส่วนฎีกาข้อหลังนั้นเห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์และตามคำให้การของจำเลยมีประเด็นโต้เถียงกันในข้อไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางต่อมผู้ทำพินัยกรรมด้วย ดังนี้ ตามปกติโจทก์ย่อมนำพยานเข้าสืบแสดงให้เห็นว่าผู้ทำพินัยกรรมมิได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานผู้นั่งพินัยกรรมได้ แต่ปรากฎตามรายงานพิจารณา ๑ พ.ค. ๙๖ ว่า โจทก์จะขอสืบว่าลายพิมพ์นิ้วมือของนางต้อมในพินัยกรรมนั้นจะใช่ของนางต้อมหรือไม่ก่อน และจะขอสืบในประเด็นข้อนี้เพียงข้อเดียวเท่านั้นเป็นอันว่าในประเด็นที่ว่านางต้อมจะได้พิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยานผู้นั่งพินัยกรรมหรือไม่โจทก์ไม่ติดใจขอสืบพยานและในชั้นอุทธรณ์โจทก์ก็ยืนยืนขอสืบพยานบุคคลตามที่ได้แสดงไว้ในรายงานพิจารณษ ๑ พ.ค. ๙๖ เป็นการขอสืบพยานบุคคลเพื่อแสดงว่าเป็นพินัยกรรมปลอมโดยลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมมิใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของนางต้อม ซึ่งโจทก์มิได้ตั้งประเด็นไว้ในฟ้องเลย จึงไม่มีทางที่ศาลจะอนุญาตได้
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์