คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10081/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ใดหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ไม่ แม้โจทก์จะตั้งแผงค้าขายบนทางเท้าพิพาทล้ำหน้าอาคารของจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ปี 2539 แต่ก็ได้ความจากโจทก์ว่าโจทก์ตั้งแผงค้าขายเวลา 9 นาฬิกา ถึง 2 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น มิได้ตั้งแผงค้าขายตลอดทั้งวัน เมื่อมีการนำกระถางต้นไม้มาตั้งบริเวณหน้าอาคารของจำเลยทั้งสอง โจทก์ก็ย้ายแผงค้าขายไปอยู่หน้าอาคารอีกด้านหนึ่ง โจทก์ต้องตั้งแผงค้าขายต่อจากแนวกระถางต้นไม้จนถูกเจ้าหน้าที่เทศกิจยึดของในแผงไป ตามพฤติการณ์แสดงว่าโจทก์ได้สละการยึดถือครอบครองทางเท้าพิพาทแล้ว โดยมีจำเลยทั้งสองเข้ายึดถือครอบครองแทน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ยึดถือครอบครองทางเท้าพิพาท เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ยึดถือครอบครองแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิหวงกันผู้อื่นในการใช้ทางเท้าพิพาทได้ การที่จำเลยทั้งสองตั้งกระถางต้นไม้บนทางเท้าพิพาทที่ตนเข้าครอบครองแทนโจทก์ดังกล่าว จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอน หรือย้ายกระถางต้นไม้ออกจากที่ดินที่โจทก์ครอบครอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดิน 210,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอน หรือย้ายกระถางต้นไม้ออกจากที่ดินที่โจทก์ครอบครอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายโดยตั้งแผงค้าขายสินค้าบริเวณทางเท้าริมถนนสีลมตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน โดยแผงค้าขายของโจทก์จะตั้งล้ำบริเวณหน้าอาคารเลขที่ 30 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ต่อมาปี 2546 จำเลยทั้งสองมาเช่าอาคารเปิดกิจการเป็นร้านสปา ชื่อช้างฟุตมาสสาสแอนด์สปา โจทก์ปรับเปลี่ยนตำแหน่งและขนาดของแผงค้าขายให้เล็กลง แต่ยังอยู่บริเวณริมทางเท้าในแนวหน้าอาคารของจำเลยทั้งสอง ในปี 2547 มีประชาชนร้องเรียนว่ามีการประกอบกิจการค้าบนทางเท้าสาธารณะในถนนสีลมทั้งสองฝั่งเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในการสัญจรและประชาชนไม่สามารถใช้ทางเท้าได้สะดวก สำนักงานเขตบางรักจึงประกาศห้ามมิให้มีการประกอบกิจการค้าขายบนทางเท้าสาธารณะในถนนสีลมทั้งสองฝั่งทั้งหมดและตลอดเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 แต่ก่อนถึงกำหนดห้ามดังกล่าว สำนักงานเขตบางรักมีประกาศอนุโลมให้ผู้ประกอบกิจการค้าแนวในหน้าอาคารยังคงค้าขายตามปกติไปก่อน จนกว่าจะสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในอาคารและเจ้าของอาคารเสร็จเรียบร้อย จำเลยทั้งสองได้นำกระถางต้นไม้มาตั้งบริเวณด้านหน้าและด้านข้างของร้านสปา ทำให้โจทก์ไม่สามารถวางแผงค้าขายได้ดังเดิม โดยต้องถอยร่นตั้งแผงค้าขายต่อจากแนวกระถางต้นไม้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การตั้งกระถางต้นไม้ของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 6 เพียงให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือบริเวณอาคารที่อยู่ติดกับทางเท้ามีหน้าที่ดูแลรักษาความสะอาดทางเท้าที่อยู่ติดกับอาคารหรือบริเวณของอาคาร มิได้บัญญัติให้ผู้ครอบครองอาคารที่อยู่ติดกับทางเท้ามีสิทธิในพื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารแต่อย่างใด เมื่อทางเท้าพิพาทอยู่นอกอาคารของจำเลยทั้งสองและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ทุกคนจึงมีสิทธิเข้าไปใช้สอยได้ แต่ในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นประชาชนด้วยกัน โจทก์ครอบครองใช้สอยทางเท้าพิพาทอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสอง เห็นว่า ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ใดหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ไม่ แม้โจทก์จะตั้งแผงค้าขายบนทางเท้าพิพาทล้ำหน้าอาคารของจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ปี 2529 แต่ก็ได้ความจากโจทก์ว่า โจทก์ตั้งแผงค้าขายเวลา 9 นาฬิกา ถึง 2 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น มิได้ตั้งแผงค้าขายตลอดทั้งวัน เมื่อจำเลยทั้งสองเข้ามาประกอบกิจการค้าในอาคาร โจทก์ได้ขยับแผงค้าขายออกไปเหลือล้ำหน้าอาคารประมาณ 10 นิ้ว ต่อมามีการนำกระถางต้นไม้มาตั้งบริเวณหน้าอาคารของจำเลยทั้งสอง โจทก์ก็ย้ายแผงค้าขายไปอยู่หน้าอาคารอีกด้านหนึ่ง จำเลยทั้งสองนำกระถางต้นไม้มาตั้งหน้าอาคารเพิ่มขึ้น โจทก์ต้องตั้งแผงค้าขายต่อจากแนวกระถางต้นไม้จนถูกเจ้าหน้าที่เทศกิจยึดของในแผงไป ตามพฤติการณ์แสดงว่าโจทก์ได้สละการยึดถือครอบครองทางเท้าพิพาทแล้ว โดยมีจำเลยทั้งสองเข้ายึดถือครอบครองแทน ดังนั้น ที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำกระถางต้นไม้มาวางทับบริเวณทางเท้าพิพาทที่โจทก์ครอบครองใช้ประโยชน์นั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ยึดถือครอบครองทางเท้าพิพาท ส่วนที่สำนักงานเขตบางรักมีประกาศ อนุโลมให้ผู้ประกอบกิจการค้าแนวในหน้าอาคารซึ่งรวมถึงโจทก์สามารถค้าขายต่อไปตามปกติจนกว่าจะสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในอาคารและเจ้าของอาคารเสร็จเรียบร้อย ก็ปรากฏในตอนท้ายประกาศดังกล่าวว่า การประกอบกิจการค้าบนทางเท้าสาธารณะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากมีผู้หนึ่งผู้ใดคัดค้านทางสำนักงานเขตบางรักสงวนสิทธิที่จะพิจารณายกเลิกการประกอบกิจการค้าบนถนนสีลมทั้งหมดต่อไป กรณีจึงเป็นเพียงการอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าชั่วคราวโดยทางสำนักงานเขตบางรักจะยังไม่ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการยึดถือครอบครองทางเท้าพิพาทอันจะทำให้มีสิทธิเหนือบุคคลอื่น เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ยึดถือครอบครองแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิหวงกันผู้อื่นในการใช้ทางเท้าพิพาทได้ การที่จำเลยทั้งสองตั้งกระถางต้นไม้บนทางเท้าพิพาทที่ตนเข้าครอบครองแทนโจทก์ดังกล่าว จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองตั้งกระถางต้นไม้เป็นการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 20, 39 และ 51 นั้น เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานจะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ไม่มีผลให้จำเลยทั้งสองกลายเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสองในส่วนด้านข้างอาคารที่ขีดด้วยหมึกสีแดงตามแผนที่แนบท้ายฎีกา ซึ่งเป็นพื้นผิวจราจรซอยสีลม 2/1 อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยโจทก์ตั้งแผงค้าขายสินค้ามาตั้งแต่ปี 2529 นั้นโจทก์มิได้กล่าวไว้ในฟ้อง ทั้งยังแตกต่างจากทางนำสืบของโจทก์ที่ว่า แผงค้าขายเป็นแผงที่ตั้งอยู่บนบาทวิถีสาธารณะ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share