คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10060/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในท้องที่ โดยจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ยี่ห้อนิสสันสีขาวของสถานีอนามัยมีตราของกระทรวงสาธารณสุขเป็นยานพาหนะประจำ ในคืนเกิดเหตุช่วงเวลาประมาณ 3 ถึง 4 นาฬิกา มีผู้แจ้งเบาะแสโดยส่งข้อความไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของดาบตำรวจ ส. รวม 6 ครั้ง 6 ข้อความ ว่ามีคนส่งยาบ้าที่พีพีรีสอร์ต ห้องที่ 14 ให้รีบไปเร็ว ๆ ก่อนเขาหนี เป็นรายใหญ่ ถ้าไม่ไปฉันจะไม่ส่งข่าวอีก เมื่อดาบตำรวจ ส. ไปที่รีสอร์ตพบรถดังกล่าวจอดอยู่ที่ห้องที่ 15 จำได้ว่าเป็นรถที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ สอบถามพนักงานรีสอร์ตแจ้งว่าเจ้าของรถมากับผู้หญิงพักอยู่ห้องที่ 14 ดาบตำรวจ ส. จึงเชื่อในเบาะแสที่แจ้งมา ดาบตำรวจ ส. กับพวกให้พนักงานรีสอร์ตเคาะประตูห้องที่ 14 ว่าขอเช็กมิเตอร์ ปรากฏว่าคนในห้องเปิดประตูออกมา ขณะนั้นไฟในห้องยังเปิดอยู่ เมื่อดาบตำรวจ ส. แจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ คนในห้องดันประตูกลับคืนและปิดไฟ เป็นพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามที่ได้รับแจ้ง ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองไปพักชั่วคราว จำเลยทั้งสองจะออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ หากเนิ่นช้าไปกว่าจะเอาหมายค้นมาทำการตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น จำเลยทั้งสองจะออกจากห้องพักเสียก่อนพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง เป็นเหตุให้พยานหลักฐานสำคัญสูญหาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งทำให้เจ้าพนักงานเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และ มาตรา 96 (2) และเมื่อเจ้าพนักงานพบอุปกรณ์การเสพและเมทแอมเฟตามีน 11 เม็ดในห้องพักดังกล่าว กับพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด ในรถยนต์ จึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำรายงานการตรวจค้นและผลการตรวจค้นไว้ในบันทึกการจับกุมเสนอผู้บังคับบัญชา ดังนั้น การตรวจค้นและจับกุมในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 100, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 อีกสามเท่า
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้การปฏิเสธข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสอง, 100 ประกอบมาตรา 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 และมาตรา 15 วรรคสาม (3) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสอง, ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เฉพาะจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 48 ปี และปรับ 3,600,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 ปี และปรับ 1,200,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง และให้การรับสารภาพชั้นจับกุมฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลดโทษให้จำเลยที่ 2 อีกหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี 11 เดือน และปรับ 800,000 บาท ริบของกลาง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ทั้งนี้ให้กักขังเป็นระยะเวลาไม่เกินสองปี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านดุงร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมของกลางเป็นเมทแอมเฟตามีน 611 เม็ด และรถยนต์กระบะ 1 คัน หมายเลขทะเบียน นข 1731 อุดรธานี กับกระเป๋าสะพายผ้าสีดำสำหรับใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 ใบ และเงินสด 6,960 บาท กับอุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีนและตัวอย่างน้ำปัสสาวะ 2 ขวด เมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 18.758 กรัม และจากการตรวจตัวอย่างน้ำปัสสาวะพบสารเมทแอมเฟตามีนในน้ำปัสสาวะของจำเลยที่ 2 แต่ไม่พบในน้ำปัสสาวะของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัยสระแก้ว ตำบลบ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี รถยนต์ของกลางเป็นรถที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้ในราชการ เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยที่ 2 เสพเมทแอมเฟตามีนเข้าสู่ร่างกายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานเสพเมทแอมเฟตามีน คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าความผิดดังกล่าวมิใช่ความผิดซึ่งหน้าเพราะจำเลยทั้งสองอยู่ในห้องพักและเวลาเกิดเหตุก็เป็นเวลากลางคืนยามวิกาล การตรวจค้นและจับกุมไม่มีหมายจับและหมายค้นของศาล เป็นการกระทำโดยมิชอบนั้น เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในท้องที่ โดยจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ยี่ห้อนิสสันสีขาวของสถานีอนามัยมีตราของกระทรวงสาธารณสุขเป็นยานพาหนะประจำ ในคืนเกิดเหตุช่วงเวลาประมาณ 3 ถึง 4 นาฬิกา มีผู้แจ้งเบาะแสโดยส่งข้อความไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของดาบตำรวจสุนทรพจน์ รวม 6 ครั้ง 6 ข้อความ ว่ามีคนส่งยาบ้าที่พีพีรีสอร์ต ห้องที่ 14 ให้รีบไปเร็ว ๆ ก่อนเขาหนี เป็นรายใหญ่ ถ้าไม่ไปฉันจะไม่ส่งข่าวอีก เมื่อดาบตำรวจสุนทรพจน์ไปที่รีสอร์ตพบรถดังกล่าวจอดอยู่ที่ห้องที่ 15 จำได้ว่าเป็นรถที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ สอบถามพนักงานรีสอร์ตแจ้งว่าเจ้าของรถมากับผู้หญิงพักอยู่ห้องที่ 14 ดาบตำรวจสุนทรพจน์จึงเชื่อในเบาะแสที่แจ้งมา ดาบตำรวจสุนทรพจน์กับพวกให้พนักงานรีสอร์ตเคาะประตูห้องที่ 14 ว่าขอเช็กมิเตอร์ ปรากฏว่าคนในห้องเปิดประตูออกมา ขณะนั้นไฟในห้องยังเปิดอยู่ เมื่อดาบตำรวจสุนทรพจน์แจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ คนในห้องดันประตูกลับคืนและปิดไฟ เป็นพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามที่ได้รับแจ้ง ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ต ซึ่งจำเลยทั้งสองไปพักชั่วคราว จำเลยทั้งสองจะออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ หากเนิ่นช้าไปกว่าจะเอาหมายค้นมาทำการตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น จำเลยทั้งสองจะออกจากห้องพักเสียก่อนพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง เป็นเหตุให้พยานหลักฐานสำคัญสูญหาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งทำให้เจ้าพนักงานเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 (4) และมาตรา 96 (2) เมื่อเจ้าพนักงานพบอุปกรณ์การเสพและเมทแอมเฟตามีน 11 เม็ด ในห้องพักดังกล่าวกับพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ดในรถยนต์ จึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าพนักงานสามารถจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1), 80 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานได้ทำรายงานการตรวจค้นและผลการตรวจค้นไว้ในบันทึกการจับกุมเสนอผู้บังคับบัญชา ดังนั้นการตรวจค้นและจับกุมในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share