คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า ว. กับพวกมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ เพราะได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุม ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเสียงข้างมากมิใช่ผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ว. กับพวกลงลายมือชื่อฟ้องคดีนี้จึงไม่ใช่การกระทำของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ว. กับพวกไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นธนาคารโจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการตามข้อบังคับธนาคารโจทก์ ไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อแต่งทนายความให้ฟ้องคดีนั้นเป็นอุทธรณ์ที่อ้างเหตุเรื่องอำนาจฟ้องแตกต่างไปจากคำให้การจึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันวงเงินเบิกเกินบัญชี 8,000,000 บาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่26 มิถุนายน 2528 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 6,317,430.34 บาท โจทก์ได้ติดตามทวงถามจากจำเลยทั้งสี่ แต่จำเลยทั้งสี่ผัดผ่อนเรื่อยมาโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับจากเงินที่ค้างชำระ 6,317,430.34 บาทในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามข้อตกลงในข้อ 2 ของหนังสือต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2528 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 60,578.10 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,378,008.47 บาทขอศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 6,378,008.47 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,317,430.37 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ17.5 ต่อปี
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยยื่นคำให้การเกี่ยวกับประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องว่า จำเลยจึงขอต่อสู้ว่า กรรมการชุดใหม่ของโจทก์ซึ่งมีนายเกษม จาติกวณิช หรือนางสาววารี หะวานนท์ นายวีระพงษ์ รามางกูรนายโกวิทย์ โปษยานนท์ นายนพพร พงษ์เวช มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย การลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทใหม่ของโจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงไม่ใช่การกระทำของธนาคารเอเชียทรัสท์ จำกัดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และมีการกล่าวอ้างเหตุในคำให้การก่อนข้อความดังกล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังข่มขู่บีบบังคับให้ผู้ถือหุ้นของโจทก์ส่วนหนึ่งโอนหุ้นให้แก่กระทรวงการคลังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่จ่ายค่าตอบแทนและอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ 51 เปอร์เซ็นต์ และร่วมกันแต่งตั้งกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการชุดใหม่ของโจทก์ ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และระบุว่าโจทก์มีหน้าที่นำสืบในประเด็นดังกล่าว ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์ว่านางสาววารีหะวานนท์ กับพวกซึ่งเป็นกรรมการของธนาคารโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารโจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการของธนาคารโจทก์ตามข้อ 10 ของหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ ดังนั้นนางสาววารี หะวานนท์ กับพวก จึงไม่มีอำนาจฟ้องและกล่าวว่าเหตุที่นางสาววารี หะวานนท์ กับพวกไม่ใช่ผู้ถือหุ้นในธนาคารโจทก์เพราะนางสาววารี หะวานนท์ กับพวกรับโอนหุ้นมาจากนายนพพร พงษ์เวชซึ่งมิใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริง โดยไม่มีค่าตอบแทน จึงถือไม่ได้ว่านางสาววารี หะวานนท์ กับพวกเป็นผู้ถือหุ้น จะเห็นได้ว่าข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแตกต่างจากที่ให้การไว้โดยสิ้นเชิงแม้ว่าศาลชั้นต้นจะได้กำหนดเป็นประเด็นเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แต่ประเด็นดังกล่าวก็มาจากคำให้การของจำเลย เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเหตุแตกต่างไปจากคำให้การ จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์
พิพากษายืน

Share