คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของทายาทแต่ละคนที่จะพึงเรียกจากผู้กระทำละเมิดต่อผู้ตาย เมื่อ ศ. ซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยมีอายุ 20 ปี บริบูรณ์ และพ้นจากภาวะผู้เยาว์แล้วมิได้ยื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตายที่ 3 ซึ่งเป็นบิดาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมที่ 3 ซึ่งเป็นมารดายื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะแทนตน โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายดังกล่าวแทน ศ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางชุ่ม ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่ 1 นางธนวดีหรือนางสาวศิริพร บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่ 2 นางอำนวย ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่น
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 1,080,000 บาท ค่าปลงศพ 88,000 บาท รวม 2,168,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 300,000 บาท ค่าปลงศพ 85,000 บาท รวม 1,385,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะสำหรับโจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 672,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะสำหรับนางสาวศรินยา บุตรของผู้ตายที่ 3 จำนวน 50,000 บาท ค่าปลงศพ 65,000 บาท รวม 1,787,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ร่วมทั้งสาม จำเลยขอถอนคำให้การในคดีส่วนแพ่งสำหรับโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่งสำหรับโจทก์ร่วมที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 288 ประกอบมาตรา 80 (ที่ถูก มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 3 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 1,668,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 885,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 1,287,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 เมษายน 2559 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 อีกกรรมหนึ่ง จำคุก 20 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 20 ปี และปรับ 2,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 10 ปี และปรับ 1,000 บาท เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 20 ปี และปรับ 1,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ในวันเวลาที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีการจัดงานศพนางเฟื่อง ที่บริเวณบ้านเลขที่ 77 ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ มีการจัดโต๊ะสำหรับเลี้ยงอาหารผู้ที่มาร่วมงานและมีการแสดงหนังตะลุง ขณะที่ผู้เสียหายและผู้ตายทั้งสามกำลังนั่งดูหนังตะลุงอยู่โดยนั่งร่วมโต๊ะเดียวกัน จำเลยพาอาวุธปืนมีทะเบียนของจำเลยติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเข้ามาในสถานที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้ตายทั้งสามและผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าจนเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสามถึงแก่ความตาย และผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสามและผู้เสียหายนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ คดีนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามมีประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุมาเบิกความ 2 ปาก คือ นายสุทธิศักดิ์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นหลานเขยของจำเลยและนายกัญจน์ณัฏฐ์ ซึ่งเป็นญาติของจำเลย โดยผู้เสียหายเบิกความว่า ในขณะที่ผู้เสียหายกำลังนั่งดูหนังตะลุงอยู่กับผู้ตายทั้งสาม ผู้เสียหายได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด และเห็นผู้ตายที่ 3 ตกจากเก้าอี้ หลังจากนั้นไม่เกิน 3 ถึง 4 วินาที ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่องอีก 2 นัด ผู้เสียหายรู้สึกว่ากระสุนปืนถูกตัวผู้เสียหายที่บริเวณชายโครงขวา และข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายให้การหลังวันเกิดเหตุเพียง 5 วัน ว่า ในขณะเกิดเหตุผู้เสียหายและผู้ตายทั้งสามได้นั่งหันหน้าไปทางเวทีการแสดงและดูหนังตะลุง ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ผู้เสียหายเห็นผู้ตายที่ 3 ตกจากเก้าอี้ลงไปนอนที่พื้น และได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก 2 นัด ติดกัน เมื่อสิ้นเสียงปืนครั้งที่ 2 ผู้เสียหายรู้สึกว่ามีสิ่งของมากระแทกบริเวณข้างลำตัวด้านขวาจึงกระโดดจากเก้าอี้ และเห็นผู้ตายที่ 1 ลุกขึ้นวิ่งออกไปจากโต๊ะ ส่วนนายกัญจน์ณัฏฐ์เบิกความว่า ขณะพยานกำลังต้อนรับผู้ที่มาร่วมงานได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จึงหันไปดูเห็นจำเลยยืนถืออาวุธปืนจ้องเล็งไปทางโต๊ะของผู้ตายทั้งสามและผู้เสียหาย และเห็นจำเลยยิงปืนซ้ำอีก 2 นัด จากนั้นจำเลยลดอาวุธปืนลงแล้วเดินออกจากงานไป ซึ่งนายกัญจน์ณัฏฐ์ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้หลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน ว่า ขณะที่นายกัญจน์ณัฏฐ์เดินดูแลแขกที่มาร่วมงาน ได้ยินเสียงจากทางด้านหน้า จึงมองไปเห็นจำเลยยืนอยู่ลักษณะส่องปลายกระบอกปืนไปทางกลุ่มโต๊ะที่ถูกยิง จังหวะเดียวกันนั้นนายกัญจน์ณัฏฐ์ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก 2 นัด หลังจากยิงเสร็จแล้วจำเลยเอาปืนแนบกับลำตัวแล้วเดินออกไปจากงาน ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความและคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายและนายกัญจน์ณัฏฐ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยใช้อาวุธปืนจ้องเล็งไปที่โต๊ะที่ผู้ตายทั้งสามและผู้เสียหายนั่งอยู่ด้วยกัน และยิงปืนทั้งสามนัดต่อเนื่องกันไป โดยจำเลยมิได้ลดอาวุธปืนลงหลังจากยิงปืนนัดที่ 1 แล้วจึงยกอาวุธปืนขึ้นจ้องเล็งใหม่เพื่อยิงปืนนัดที่ 2 และที่ 3 แต่ประการใด ตามคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายก็มิได้กล่าวถึงช่วงระยะห่างจากการยิงนัดที่ 1 กับนัดที่ 2 และที่ 3 ว่าเป็นเวลา 3 ถึง 4 วินาที ตามที่ผู้เสียหายเบิกความในชั้นศาล ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้จากนายกัญจน์ณัฏฐ์ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยยิงปืนนัดที่ 1 กับนัดที่ 2 และที่ 3 ต่อเนื่องติดต่อกันทันที จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องในคราวเดียวกันและแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยได้ว่า จำเลยประสงค์ต่อผลในการที่จะฆ่าผู้ตายทั้งสามและผู้เสียหายซึ่งนั่งอยู่ด้วยกันในคราวเดียวกัน โดยจำเลยมิได้มีเจตนาแบ่งแยกที่จะฆ่าผู้ตายที่ 3 ก่อน แล้วเกิดเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายเพิ่มขึ้นอีกในภายหลัง ลักษณะเจตนาในการกระทำความผิดของจำเลยเป็นอันเดียวกัน ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายที่ 3 กับฐานฆ่าผู้ตายที่ 1 ที่ 2 และพยายามฆ่าผู้เสียหาย เป็นความผิดสองกรรมมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะสำหรับนางสาวศรินยา บุตรของโจทก์ร่วมที่ 3 กับผู้ตายที่ 3 เป็นเงิน 50,000 บาท มาด้วย แม้โจทก์ร่วมที่ 3 เบิกความประกอบสูติบัตร รับฟังได้ว่านางสาวศรินยาเป็นบุตรของโจทก์ร่วมที่ 3 กับผู้ตายที่ 3 จริง แต่ตามสูติบัตรดังกล่าวนางสาวศรินยาเกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 ดังนั้น ขณะที่โจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559 นางสาวศรินยาจึงบรรลุนิติภาวะโดยมีอายุ 20 ปี บริบูรณ์ และพ้นจากภาวะผู้เยาว์แล้ว เมื่อนางสาวศรินยามิได้ยื่นคำร้องขอค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของทายาทแต่ละคนที่จะพึงเรียกจากผู้กระทำละเมิดต่อผู้ตายที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 มาด้วย ทั้งไม่ปรากฏว่านางสาวศรินยามอบอำนาจให้โจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอแทนตน โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้แทนนางสาวศรินยา ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วกำหนดให้จำเลยชำระค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ร่วมที่ 3 เป็นเงิน 50,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง นั้น จึงไม่ชอบ โจทก์ร่วมที่ 3 คงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,237,000 บาท แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหานี้ขึ้นมา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี เมื่อรวมกับโทษปรับฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้ว เป็นจำคุก 10 ปี และปรับ 1,000 บาท ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 1,237,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 เมษายน 2559 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share