แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดี นี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ฎีกาของจำเลยบางข้อคัดค้านการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยกำหนดโทษ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกส่วนฎีกาบางข้อที่อ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ก็ล้วนแต่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาข้อ ก.(1)1.1 ที่ว่า ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมารับฟังเพื่อลงโทษจำเลย ข้อ ก.(1)1.2ที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดซึ่งจำเลยได้ถูกลงโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3182/2535ข้อ ก.(1)1.3 ที่ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ และการที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจึงเป็นการลงโทษซ้ำในการกระทำผิดกรรมเดียว ข้อ 2 ก.2 ที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยมิได้ดำเนินกระบวน พิจารณาตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมประพฤติ และข้อ 2 ก.3 ที่ว่า คำรับสารภาพของจำเลยในคดีนี้ไม่เป็นคำรับสารภาพตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ล้วนเป็นปัญหา ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็น สาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย การวินิจฉัยว่า ข้อกฎหมายใด ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาต้องกระทำโดยความเห็นชอบ ของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย การที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งว่าเป็นข้อกฎหมายที่ไม่ควรได้รับการวินิจฉัยนั้น เป็นการสั่งโดยไม่มีอำนาจ โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้ พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 59)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคแรก,72 วรรคสาม,72 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498มาตรา 4,6,22,23 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครอง วางโทษจำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปตามทางสาธารณะ วางโทษจำคุก 2 ปี ฐานมี และ ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม วางโทษจำคุก 2 เดือน รวมวางโทษจำคุก 4 ปี 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก จำเลย 2 ปี 1 เดือน พิเคราะห์รายงานพนักงานคุมประพฤติประกอบ สำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 2894/2535 ที่ศาลสั่งให้นำมาผูกติด กับสำนวนคดีนี้แล้ว เห็นว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาแล้ว หลายครั้ง รวมทั้งความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ. 2490 แม้ขณะคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จำเลยยังหาเข็ดหลาบไม่ ยังกระทำความผิดในคดีนี้อีก ทั้งกระทำความผิดในบริเวณศาล แสดงให้เห็นว่าจำเลยหาได้มีความยำเกรงต่อกฎหมายไม่ โทษจำคุก ไม่เห็นสมควรรอการลงโทษให้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 55) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 59)
คำสั่ง พิเคราะห์ แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อ 1 ถึงข้อ 3 ที่ว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้นจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาที่ว่าคำรับสารภาพของจำเลยไม่เป็นคำรับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 โจทก์ไม่สืบพยานโจทก์ต้องแพ้นั้น เป็นข้อที่มิได้กล่าวกันมาในศาลล่าง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา และการที่จะวินิจฉัยว่าปัญหาข้อกฎหมายใดควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลฎีกาหรือไม่นั้นก็เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 223 ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง