คำสั่งคำร้องที่ 760/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง จึงไม่รับ
จำเลยเห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2) หรือ (3) หรือไม่ จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์หรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนให้โจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ โปรดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลแรงงานกลาง ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นดังกล่าว
หมายเหตุ ทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว ยื่นคำร้องคัดค้าน(อันดับ 81 แผ่นที่ 2,82)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 63,660 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง(13 มกราคม 2529) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้โจทก์ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 17,329 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป(15 กรกฎาคม 2529) จนกว่าชำระเสร็จให้โจทก์ คำขอของโจทก์นอกเหนือจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว(อันดับ 74)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 78)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้แก่โจทก์โดยอุทธรณ์เป็นใจความว่า จำเลยมีพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2)ประการหนึ่ง และคำเบิกความของพยานจำเลยและพยานเอกสารแสดงให้เห็นว่าโจทก์ปิดบัญชีไม่ทันกำหนดเป็นประจำ ผู้บังคับบัญชาตักเตือน และให้ทำทัณฑ์บนแล้ว โจทก์ก็ยังปฏิบัติเช่นเดิม เป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) ทั้งละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างเป็นอาจิณ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 อีกประการหนึ่ง ซึ่งในปัญหาตามอุทธรณ์ดังกล่าวศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าตามทางนำสืบพยานของทั้งสองฝ่ายไม่ปรากฏว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และพยานฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักน้อยฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เช่นนี้ อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อจึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งฟังเป็นยุติแล้วหรือนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share