แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ฎีกาของ จำเลยทั้งสองข้อ 2.2 และ 2.3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกา รับฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อ 2.1 จำเลยทั้งสองเห็นว่า ฎีกาข้อ 2.2 ของจำเลยในประเด็น ที่ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้หยิบยกข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏใน ท้องสำนวนมาวินิจฉัยนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายโปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาข้อ 2.2 ของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 83) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,89 ที่แก้ไขแล้ว จำคุกคนละ 5 ปีคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อ 2.1 ส่วน ฎีกาข้อ 2.2 และข้อ 2.3 นั้น สั่งไม่รับ (อันดับ 81) จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 82)
คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อ 2.2 นั้น จำเลยทั้งสองโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง แม้ฎีกาข้อ 2.2 วรรคท้าย จำเลยโต้เถียงเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้ เหตุผลในการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยพยานหลักฐานตอนหนึ่งว่า “อาจเป็นไปได้ที่จำเลยใช้ธนบัตรซึ่งได้รับจากสายลับทอน ให้ลูกค้าที่มาเติมน้ำมันไปแล้ว” คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นเหตุผล อย่างหนึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจ หยิบยกขึ้นวินิจฉัยประกอบการรับฟังพยานหลักฐานในคดีได้ มิใช่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน และเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาข้อ 2.2 ของจำเลยทั้งสองนั้น ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง