แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของ โจทก์ระงับ ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ให้ จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ มีความหมายว่า ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และให้จำเลยชำระค่าเสียหายในการทำละเมิด ต่อโจทก์เป็นเงิน 200,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะคดีส่วนอาญา คดีส่วนแพ่งให้ไปฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจ
คดีอยู่ระหว่างศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 4057/2539 ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้องจำหน่ายคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) โจทก์นำคดีมาฟ้องอีกไม่ได้ ให้จำหน่ายคดี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา
ศาลฎีกาสั่งว่า “ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญา มาฟ้อง ของโจทก์ระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ มีความหมายว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความพิพากษายกฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”