แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาข้อแรกของจำเลย แม้จะอ้างว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาคดี ขัดต่อกฎหมาย แต่เมื่ออ่านโดยตลอดแล้ว ก็เป็นการโต้แย้ง การวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยาน อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนฎีกา ข้อสอง ก็เป็นฎีกาที่โต้แย้งการลงโทษของศาล อันเป็นดุลพินิจ ในการกำหนดโทษ นับเป็นปัญหาข้อเท็จจริงอุทธรณ์ (ที่ถูกควรเป็น ฎีกา) ของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ไม่รับฎีกา จำเลยเห็นว่า ฎีกาข้อ 1 ของจำเลยไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงว่าไม่เป็นไปตามที่ศาลวินิจฉัย แต่โต้แย้งว่าเมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนฟังขัดแย้งกัน การรับฟังลงโทษจำเลย จึงขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 และ 186(6) และฎีกาข้อ 2 เป็นฎีกาขอให้ศาลเห็นถึงสภาพความผิดและ ขอให้ศาลรอการลงโทษล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่ง ให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้อง แล้วหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),157 ที่แก้ไขแล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300,390 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(ที่ถูกมาตรา 90) จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 83) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 86)
คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์ปากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับแผนที่สังเขปแสดงการเกิดเหตุแตกต่างขัดแย้งกัน ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด การที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง ๆ ที่พยานโจทก์ขัดแย้ง แตกต่างกันดังกล่าว จึงเป็นการพิพากษาที่ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 และ 186(6) นั้น แท้จริงแล้วเป็นการโต้แย้งดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน อันเป็นข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาข้อ 2 ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพความผิด ว่ามีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำเลยไว้ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ก็เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการ กำหนดโทษจำเลย อันเป็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน จึงเป็นฎีกา ที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง