คำสั่งคำร้องที่ 3190/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกา จึงไม่รับ
จำเลยที่ 2 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326,83,91 ได้หรือไม่ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกา ของจำเลยที่ 2 ด้วย
หมายเหตุ โจทก์ทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 241 แผ่นที่ 3 ที่ 4)
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328,83,91และ 332(2) ฯลฯ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,328 เป็นการกระทำความผิด2 กรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 เดือน ปรับกระทงละ 1,500 บาทรวมจำคุก 2 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 2 ปรับกระทงละ 1,500 บาทรวมปรับ 3,000 บาท ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,83,91 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 233)
จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 235)

คำสั่ง
พิเคราะห์ฎีกาของจำเลยที่ 2 แล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น จำเลยที่ 2ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อโจทก์แม้แต่นายกสมาคมของจำเลยที่ 2 ก็มิได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดด้วยกับจำเลยที่ 1 นั้นเห็นว่า เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2กระทำความผิดหรือไม่ ไม่ใช่ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 2ในฐานะเป็นนิติบุคคล จะกระทำความผิดในฐานนี้ได้หรือไม่ดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในอุทธรณ์คำสั่ง ฎีกาของจำเลยที่ 2ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share