คำสั่งคำร้องที่ 2742/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงไม่รับโจทก์เห็นว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 ที่แก้ไขข้อความในมาตรา 220 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน2532 ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ความในมาตรา 220 ยังไม่มีการแก้ไข โจทก์ยังมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีรับรอง การแก้ไขมาตรา 220 ดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับคดีนี้เพื่อให้เสียสิทธิแก่โจทก์ในการฎีกาปัญหาข้อกฎหมายตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ก่อนแล้วตามหลักกฎหมายทั่วไปที่บัญญัติว่ากฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังจะนำมาใช้บังคับให้เสียสิทธิแก่คู่ความไม่ได้ และฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายโปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (สำนวนธุรการอันดับ 23 แผ่นที่ 2,3)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 25)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 26)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีใดต้องห้ามฎีกาหรือไม่จะต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นฎีกา คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย บทบัญญัติดังกล่าวมีขึ้นโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 7) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2532 โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2533 ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นให้ยกคำร้อง

Share