แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่ารับฎีกาของจำเลยทั้งสองเฉพาะฎีกาข้อ 2.3 ฎีกาข้ออื่นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้าม ไม่รับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นปัญหาข้อกฎหมายโดยฎีกาข้อ 2.1 เป็นปัญหาว่า การรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ฝ่าฝืนต่อพยานหลักฐานในคดีหรือไม่ฎีกาข้อ 2.2 เป็นปัญหาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมหรือไม่ ฎีกาข้อ 2.4 เป็นปัญหาว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจริบเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองและกางเกงยีนของกลางหรือไม่ ฎีกาข้อ 2.5 เป็นปัญหาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายฎีกาข้อ 3 เป็นปัญหาว่า ศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ และฎีกาข้อ 4 เป็นปัญหาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองอยู่ในขั้นตระเตรียมหรือลงมือกระทำความผิด โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 106 แผ่นที่ 2,112 แผ่นที่ 2)
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,274 ประกอบด้วยมาตรา 275ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือนและปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 กระทงหนึ่ง และตามมาตรา 275อีกกระทงหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษปรับจำเลยทั้งสองกระทงละ2,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับคนละ 4,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 1 ปีโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเพียงบางข้อ (อันดับ 93,97)
จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 101)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าฎีกาของจำเลยทั้งสอง ข้อ 2.1 ที่ว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของจำเลยกับของโจทก์ร่วมที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องและข้อ 2.2 ที่ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาข้อ 2.4 และข้อ 4 เป็นฎีกาดุลพินิจในการริบของกลางเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและฎีกาข้อ 2.5กับข้อ 3 เป็นปัญหาเดียวกับฎีกาข้อ 2.1 จึงให้รับเฉพาะฎีกาข้อ 2.1 และ 2.2 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป