คำสั่งคำร้องที่ 1534/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาที่ว่าทรัพย์เป็นของใคร จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่นสุธาทิพย์ ผู้ร้อง ได้ทรัพย์มาจากนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์ทั้งหมดจึงเป็นของจำเลยหาใช่ของผู้ร้องไม่ และการที่ศาลฟังข้อเท็จจริงจากพยานบอกเล่าแล้ววินิจฉัยว่าทรัพย์เป็นของนายปกรณ์สีศิริกุล นั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้วินิจฉัยต่อไป
หมายเหตุ ศาลแรงงานกลางได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้ว (อันดับ 80)
สืบเนื่องจากศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างวันที่ไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมทั้งดอกเบี้ย ฯลฯ จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ฯลฯโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่นสุธาทิพย์ ยื่นคำร้องอ้างว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้อง มิใช่ของจำเลย ขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ดังกล่าว
นายปกรณ์สีศิริกุล ยื่นคำร้องอ้างว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้อง มิใช่ของจำเลย ขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ดังกล่าวศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณา คดีร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ทั้ง 2 เรื่องเข้าด้วยกัน โดยเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่นสุธาทิพย์ว่าผู้ร้องที่1และเรียกนายปกรณ์สีศิริกุลว่าผู้ร้องที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 4 เอกสารหมายผู้ร้องที่ 1.1 คือทรัพย์หมวด ก. ลำดับที่ 2ที่ 3 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 21 และที่ 24 กับทรัพย์หมวด ง.ทั้ง 11 ลำดับ
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 70)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 73)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว อุทธรณ์โจทก์ข้อ 2 ก. ที่ว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นของจำเลยไม่ใช่ของผู้ร้องที่ 1 จำเลยกับผู้ร้องที่ 1สมคบกันทำสัญญาซื้อขายหลังจากทรัพย์ถูกยึดแล้ว กับอุทธรณ์โจทก์ข้อ 2 ข. ที่ว่า รถยนต์ที่ยึดทุกคันจำเลยครอบครองและใช้อยู่จนถึงวันยึด ไม่ได้อยู่ในความครอบครองของผู้ร้องที่ 2 การซื้อขายรถยนต์จำเลยกับผู้ร้องที่ 2 ร่วมกันทำขึ้นเพื่อฉ้อฉลโจทก์พยานบุคคลที่ว่าทรัพย์ไม่ใช่ของจำเลยเป็นพยานบอกเล่าต้องห้ามมิให้รับฟัง นั้น ในปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังว่าทรัพย์ที่ผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ร้องขัดทรัพย์นั้นมิใช่ของจำเลย แต่เป็นของผู้ร้องแต่ละสำนวน อุทธรณ์โจทก์ทั้ง 2 ข้อเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังเป็นยุติแล้ว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ชอบแล้วให้ยกคำร้อง

Share