คำสั่งคำร้องที่ 1472/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219และฎีกาข้อกฎหมายก็ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงไม่รับ จำเลยเห็นว่า ฎีกาข้อ 2.1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยรวม 2 ปี 6 เดือนและศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นการแก้ไขมาก จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 หรือมาตรา 219แต่อย่างใด ส่วนฎีกาข้อ 2.2 ที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หรือหลายกรรมต่างกันและฎีกาข้อ 2.3 ที่ว่า คำพิพากษาของศาลที่ให้ริบปืนของกลางนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ต่างเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาด้วย หมายเหตุ โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 100 แผ่นที่ 1,3) ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางอมรรัตน์อนันตวุฒิผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297,371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับ อันตรายสาหัสจำคุก 3 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 9 เดือน เรียงกระทงลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91รวมจำคุก 3 ปี 9 เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ฯลฯ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 9 เดือน ปรับ 3,000 บาทคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000บาท รวมกับโทษจำคุกในข้อหาพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วเป็นจำคุก 12 เดือน ปรับ 2,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์รูปคดีโดยตระหนักแล้วเห็นสมควรรอการลงโทษไว้ 3 ปี เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว (อันดับ 96) จำเลยยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 98)

คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว การที่จะวินิจฉัยว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาในฐานความผิดเป็นกระทง ๆไป คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ลงโทษจำคุก 2 ปี กับมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 8 ทวิ วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาทรวมกับโทษจำคุกในข้อหาพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วเป็นจำคุก 12 เดือน ปรับ 2,000 บาท และรอการลงโทษไว้3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ความผิดฐานพาอาวุธปืนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกส่วนความผิดฐานทำร้ายร่างกาย แม้ศาลอุทธรณ์จะแก้ทั้งบทความผิดและโทษ อันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์มิได้เพิ่มเติมโทษจำเลยจึงต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ฎีกาข้อ 2.1 ที่ว่า จำเลยพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะหรือไม่ก็ดี ฎีกาข้อ 2.2 ที่ว่า การทำร้ายร่างกายกับการพาอาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวเกี่ยวเนื่องกันโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีเจตนาแยกจากกันก็ดีและฎีกาข้อ 2.3 ที่ว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ริบอาวุธปืนของกลาง ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดีล้วนเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาทั้งสิ้นจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวข้างต้น และฎีกาข้อ 2.3 ในส่วนที่ว่า หากศาลฎีกาฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทก็ชอบ ที่จะลงโทษจำเลยตามบทหนัก ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติให้ริบอาวุธปืน เป็นฎีกาที่มีเงื่อนไขและมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 193 วรรคสอง ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share