คำสั่งคำร้องที่ 1365/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จึงไม่รับฎีกาจำเลย
จำเลยเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นการแก้ไขมาก จำเลยย่อมฎีกาได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาของจำเลยในประเด็นที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวหรือไม่ ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอีกด้วยโปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา ต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 106แผ่นที่ 1)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 ให้จำคุก 6 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 105)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 106)

คำสั่ง
คดีนี้ศาลอุทธรณ์เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยจากจำคุก 6 ปี เป็น 4 ปี ไม่ได้แก้บทมาตราด้วย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นฝ่ายท้าทายผู้เสียหายให้ชกต่อยกัน แม้จำเลยจะถูกผู้เสียหายชกต่อยก่อน จำเลยจึงชักมีดแทงผู้เสียหาย ก็เป็นการสมัครใจเข้าทำร้ายซึ่งกันและกันไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยฎีกาสรุปได้ว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน คำเบิกความของพยานโจทก์ฟังได้ว่า แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายท้าทายผู้เสียหายไปชกต่อยกันที่วัดโพธิ์วงษ์จำเลยยังไม่สมัครใจต่อสู้กับผู้เสียหายในขณะนั้น แต่เมื่อผู้เสียหายชกต่อยจำเลยก่อนและชักมีดจะแทงจำเลย จำเลยแย่งมีดได้จึงแทงผู้เสียหาย เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ฎีกาของจำเลยเท่ากับเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นยุติเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษให้จำเลยนั้นเป็นฎีกาดุลพินิจซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ฎีกาของจำเลยทุกข้อต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share