คำสั่งคำร้องที่ 1180/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงและโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ 2.1 เป็นการอุทธรณ์เรื่องอายุความซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิภายในอายุความ ในข้อ 2.2 เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ในข้อ 2.3 หากโจทก์ประสงค์จะสละสิทธิต่าง ๆ ทางศาลต้องทำบันทึกไว้อย่างชัดเจนและในข้อ 2.4 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์โจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ศาลแรงงานกลางได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้ว (อันดับ 20 แผ่นที่ 2)
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมกับจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2529 ถึงวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2531 คิดเป็นเงิน 36,309 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์2531พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 16)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 18)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.4 เป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันสรุปเป็นใจความได้ว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518การที่โจทก์รับเงินค่าเสียหาย และค่าชดเชยจากจำเลยไปโดยโจทก์มิได้บันทึกตกลงจะสละสิทธิในการเป็นกรรมการลูกจ้างจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิต่าง ๆ ในการเป็นกรรมการลูกจ้าง และโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริต นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ แต่การที่โจทก์ตกลงกับจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1545/2530 ตามรายงานกระบวนพิจารณาสองฉบับ โจทก์จำเลยจึงต้องผูกพันตามที่ตกลงกันไว้ การที่โจทก์ยินยอมรับเงินค่าเสียหายจำนวน 15,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 6,300 บาท ไปจากจำเลยแล้วเท่ากับโจทก์สมัครใจให้จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ได้สละสิทธิเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ในการเป็นกรรมการลูกจ้าง จำเลยจึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากศาลเพื่อเลิกจ้างโจทก์อีก เมื่อโจทก์ยินยอมให้จำเลยเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2529 หลังจากนั้นโจทก์ก็ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามฟ้อง เช่นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นอุทธรณ์คัดค้านในปัญหาที่ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง ในคดีนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หรือไม่และจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาจึงให้รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดไว้ดำเนินการต่อไป

Share