คำสั่งคำร้องที่ 1089/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ระเบียบการขึ้นค่าจ้างเป็น ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ให้อำนาจจำเลยเป็นผู้พิจารณา ขึ้นค่าจ้าง เพราะคำว่า จะได้รับการพิจารณาขึ้นค่าจ้าง หมายถึง การให้สิทธิจำเลยใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตามสภาพการณ์ ที่เป็นจริง เมื่อจำเลยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดทุน ขาดสภาพคล่อง จำเลยจึงไม่พิจารณาขึ้นค่าจ้างให้พนักงานทุกคน รวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยไม่ได้กระทำการที่ขัดกับข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่อย่างใดนั้น เป็นอุทธรณ์การแปลความ ตามระเบียบการขึ้นค่าจ้างว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่ขึ้น ค่าจ้างให้แก่โจทก์นั้นเป็นการขัดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปรับเงิน ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเดือนละ 102 บาท นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปแก่โจทก์ และให้จ่ายเงินค่าจ้างส่วนที่ขาดประจำเดือน กรกฎาคม 2541 จำนวน 102 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไม่รับอุทธรณ์

จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นปัญหาเกี่ยวกับการ แปลความหมายข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จล.1 ซึ่งจำเลยแปลความหมาย คำว่าจะได้รับการพิจารณาจ่ายให้ เป็นการ ให้อำนาจจำเลยใช้ดุลพินิจพิจารณา เมื่อจำเลยขาดทุนจึงพิจารณา ไม่ขึ้นค่าจ้างให้ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และปัญหาว่าจำเลย ประสบปัญหาการขาดทุน ขาดเงินหมุนเวียน ไม่มีเงินที่จะจ่าย ให้พนักงาน การที่จำเลยไม่ขึ้นค่าจ้างให้พนักงานของจำเลย รวมทั้งโจทก์ ทำให้จำเลยสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และ ทำให้พนักงานทุกคนไม่ถูกเลิกจ้าง จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการ เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณต่อพนักงานทุกคนรวมทั้ง โจทก์ด้วย เป็นปัญหาข้อกฎหมายเช่นกันขอศาลฎีกาได้โปรด รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป

ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย ว่า ตามเอกสารหมาย จล.1 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อ 6 ระเบียบการขึ้นค่าจ้างกำหนดให้การขึ้นค่าจ้างของพนักงาน ตั้งแต่ระดับหัวหน้าผู้ควบคุมงานลงมาจะได้รับการพิจารณา ขึ้นค่าจ้างปีละ 2 ครั้ง คือในวันที่ 21 มิถุนายนและวันที่ 21 ธันวาคม ของทุกปีแต่จะต้องเป็นผู้ที่ทำงานติดต่อกันมาแล้ว ครบ 6 เดือนขึ้นไป และได้รับการประเมินผลงานอยู่ในระดับเกรดซี จึงมีสิทธิได้รับการขึ้นค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2541 เมื่อจำเลยไม่ปรับอัตราการขึ้นค่าจ้างแก่โจทก์จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามเอกสารหมาย จล.1 เรื่องระเบียบการขึ้นค่าจ้างเป็นข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างให้อำนาจจำเลยเป็นผู้พิจารณาขึ้นค่าจ้าง เพราะคำว่าจะได้รับการพิจารณาขึ้นค่าจ้าง หมายถึงการให้สิทธิ จำเลยใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตามสภาพการณ์ที่เป็นจริง เมื่อ จำเลยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดทุน ขาดสภาพคล่อง จำเลยจึง ไม่พิจารณาขึ้นค่าจ้างให้พนักงานทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลย ไม่ได้กระทำการที่ขัดกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสาร หมาย จล.1 แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เป็นอุทธรณ์การแปลความตามเอกสารหมาย จล.1 ว่า การกระทำของ จำเลยที่ไม่ขึ้นค่าจ้างให้แก่โจทก์นั้นเป็นการขัด ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ ในข้อเท็จจริงจึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็น ของศาลฎีกา ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวไว้เพื่อดำเนินการต่อไป”

Share