แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยยื่นคำร้องขอนำคำฟ้องฎีกาเดิมที่ยื่นไว้พร้อมกับคำร้องที่ขอให้ศาลอุทธรณ์ รับรองฎีกาเป็นฎีกาที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาและขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำฟ้องฎีกากับสำเนาคำร้องขอให้รับรองฎีกาให้โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยยื่นคำร้องนี้เมื่อพ้นระยะเวลาฎีกา จะถือเอาฎีกาที่ยื่นให้ศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกาเป็นการยื่นต่อศาลนี้ในวันที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์หาได้ไม่จึงไม่รับฎีกาจำเลย ฯลฯ
จำเลยเห็นว่า จำเลยยื่นฎีกาพร้อมกับคำร้องขอให้ศาลรับรองฎีกาภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่จำเลยทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้ล่วงเลยกำหนดอายุฎีกาตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216เป็นการยื่นฎีกาโดยชอบแล้ว โปรดกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นให้รับฎีกาของจำเลย
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7,72 ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376,91 ฯ เป็นความผิดหลายกรรมฯ ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือน ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง จำคุก 10 วัน รวมจำคุก 6 เดือน 10 วัน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน 5 วัน
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2528
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จึงไม่รับ(อันดับ 32)
จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 3 มกราคม 2529 ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยได้แนบฎีกามาพร้อมกับคำร้อง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งลงวันที่ 6มกราคม 2529 ว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด จึงอนุญาตให้ฎีกาได้ (อันดับ 38,43,44)
จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 15 มกราคม 2529 ขอนำคำฟ้องฎีกาเดิมที่ได้ยื่นไว้ พร้อมกับคำร้องที่ขอให้ศาลอุทธรณ์รับรองฎีกา ลงวันที่3 มกราคม 2529 เป็นฎีกาที่ขึ้นสู่ศาลฎีกา และขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำฟ้องฎีกากับสำเนาคำร้องขอให้รับรองฎีกาให้โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 45)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 47)
คำสั่ง
คำฟ้องฎีกานั้นต้องยื่นต่อศาลชั้นต้น จำเลยจะให้นำคำฟ้องฎีกาแนบท้ายคำร้องที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์เพื่อขอให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา มาเป็นคำฟ้องฎีกา อันจะเป็นผลให้เป็นการยื่นคำฟ้องฎีกาภายในกำหนดอายุฎีกา หาได้ไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาจำเลย ชอบแล้ว ยกคำร้อง