แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า รับฎีกา ข้อ 2.2.1และข้อ 2.2.2 ส่วนฎีกา ข้อ 2.1.1 ถึง 2.1.5 เป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จึงไม่รับจำเลยที่ 1 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงแม้ว่าจะกล่าวเป็นข้อเท็จจริงไว้แต่ก็เป็นเรื่องที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐาน นอกจากนี้ยังเห็นว่าศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามคำเบิกความของพยานที่ปรากฏอยู่ในสำนวนและตามข้อโต้แย้งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1จึงเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากศาลสูง โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อ 2.1.1 ถึง 2.1.5 ไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 105)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)(11),83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1และที่ 2 คนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1และที่ 2 คนละ 4 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหารับของโจรและยกฟ้องจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์556,800 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างฎีกา เฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 103,100)
จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 105)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อ 2.1.1 ถึง ข้อ 2.1.5 ต่างเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง