แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องอำเภอคูเมือง ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขาคูเมือง ที่ ๒ ระหว่างพิจารณาศาลออกหมายเรียกนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หินเหล็กไฟ กรมการปกครองและกรมที่ดินเข้ามาในคดี โดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๕ ตามลำดับ คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามใบแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน เลขที่ ๑๗๘ และเลขที่ ๑๗๙ ร่วมกับบิดาของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมาบิดาของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่ทายาท ๕ คน ซึ่งรวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสองด้วยเข้าครอบครองทำประโยชน์ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงหนองตาหล่ำ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงยื่นคำคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินแปลงที่พิพาท ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ระงับหรือเพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินแปลงดังกล่าว และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์แปลงหนองตาหล่ำที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน การรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่พิพาท จึงยื่นคำคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ระงับหรือเพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินแปลงพิพาท และร่วมกันชำระค่าเสียหาย แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป ทั้งการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ขอให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมาย และการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นสำคัญ กรณีเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม