แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนฟ้องหน่วยงานทางปกครองผู้ว่าจ้างและเอกชนผู้รับจ้างปรับปรุงถนนและทางเท้าให้ร่วมกันรับผิดในการที่ไม่ติดตั้งสัญญาณไฟ ป้ายเตือน ฯลฯ ตลอดแนวการก่อสร้างปรับปรุงถนน เป็นเหตุให้ผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณก่อสร้างแล้วล้มลงถึงแก่ความตาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชน ด้วยกัน ที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเพียงเพราะในฐานะผู้ว่าจ้าง ตามสัญญาจ้างให้ปรับปรุงถนนและทางเดินเท้าเท่านั้น เหตุละเมิดตามคำฟ้องจึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๓ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙/๒๕๕๗
วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสมุทรปราการโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นางจรีย์พร พันธุ์สง่า ที่ ๑ เด็กชายปรัชญา พันธุ์สง่า โดยนางจรีย์พร พันธุ์สง่า ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องนายสมโภชน์ พัดประดิษฐ์ ที่ ๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเด่นชัยปากน้ำ ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๘๔/๒๕๕๕ ความว่า จำเลยที่ ๓ ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ ปรับปรุงถนนและทางเดินเท้าถนนสายลวด ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับจ้างช่วงจากจำเลยที่ ๒ แต่ในระหว่างก่อสร้างจำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังมิได้ติดตั้งสัญญาณไฟ ป้ายเตือน แผงเหล็กหรือวัสดุอื่นใด พร้อมดวงไฟติดตลอดแนวที่ยังไม่ได้เปิดให้มีการจราจร จนเป็นเหตุทำให้นายวิฑูรย์สามีของโจทก์ที่ ๑ และบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณดังกล่าวล้มลงได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีอาญาฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยที่ ๒ ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับจ้างของจำเลยที่ ๒ มิได้เป็นลูกจ้างและได้ใช้ความระมัดระวังโดยติดตั้งป้ายสีส้มแดงบอกทางข้างหน้ามีการก่อสร้างหลายป้าย คดีขาดอายุความ ค่ารักษาพยาบาลผู้รับประกันภัยได้จ่ายให้โจทก์แล้วและรับช่วงสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต่อศาลแขวงสมุทรปราการ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ ๑ และไม่ทราบเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๑ หรือนายวิฑูย์ และจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องชดใช้หรือร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นสัญญาจ้างทำของจำเลยที่ ๓ ไม่ใช่นายจ้าง ความเสียหายมิได้เกิดจากการสั่งการและคำสั่งของจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ไม่ได้เป็นผู้เลือกหาผู้รับจ้าง จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จ้างช่วงจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๓ ไม่รู้เห็นหรือเป็นผู้สั่งการขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ ส่งมอบพื้นที่ถนนสายลวดและทางเดินเท้าให้จำเลยที่ ๒ แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดชอบ และเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของนายวิฑูรย์เพียงฝ่ายเดียว คดีขาดอายุความ ฟ้องเคลือบคลุม ค่าเสียหายสูงเกินจริงและเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากนายวิฑูรย์สามีของโจทก์ที่ ๑ และบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเอกชน ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใดนั้น ต้องให้ได้ความเสียก่อนว่าจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อผู้ตายหรือไม่ ซึ่งจะต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งหรือพาณิชย์ แม้จำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครองและโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ ๓ ให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะพิจารณาว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ผิดในการเลือกหาผู้รับจ้างหรือไม่ ประเด็นแห่งคดีในส่วนของการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นส่วนสำคัญ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามจึงมีมูลความแห่งคดีเดียวกัน ทั้งเหตุละเมิดตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๓ ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ ปรับปรุงถนนและทางเดินเท้า สัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายจำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๓ มอบหมายให้จำเลยที่ ๒ จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคอันเป็นการบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง การที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๓ ให้ดำเนินกิจการทางปกครองก่อสร้างปรับปรุงถนน จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ได้ทำสัญญาจ้างช่วงให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาจ้างช่วงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง และการที่จำเลยที่ ๑ ดำเนินการก่อสร้างถนนดังกล่าวเป็นการดำเนินกิจการทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองด้วยคดีนี้จำเลยที่ ๓ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ก่อสร้างถนนพิพาท และจำเลยที่ ๒ ได้จ้างช่วงจำเลยที่ ๑ ให้ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนดังกล่าว ซึ่งตามมาตรา ๒๗ ประกอบกับมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้ผู้บริหารของจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจหน้าที่ควบคุม และตรวจตราการจราจรบนทางหลวงให้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นเจ้าหน้าที่กำกับตรวจตราและควบคุมทางหลวง และงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงท้องถิ่นตามมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เข้าไปดำเนินการก่อสร้างถนนที่เป็นมูลพิพาทในคดีนี้ จึงจะต้องได้รับอนุญาตหรือรับมอบหมายจากผู้บริหารของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการทางหลวงตามที่บัญญัติในมาตรา ๓๘ และมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ เนื่องจากสถานะของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ หรือเอกชนทั่วไปไม่อาจเข้าดำเนินการก่อสร้างถนนสายลวดได้เอง ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดำเนินการก่อสร้างถนนพิพาทตามสัญญาจ้างและสัญญาจ้างช่วงจึงเป็นการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ แทนจำเลยที่ ๓ หรือในนามของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ย่อมมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการปรับปรุงถนนของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๑ เพื่อให้ผู้ใช้ถนนได้รับความปลอดภัยในการเดินทางตามข้อ ๑๕ ของสัญญาจ้าง ส่วนผู้บริหารของจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวง ย่อมมีอำนาจและหน้าที่โดยตรงในการติดตั้งเครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณหรือเครื่องหมายจราจรบนทางหลวงให้ครบถ้วนเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้ทางหลวงดังกล่าว ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยเกิดความปลอดภัยและมีอำนาจหน้าที่ควบคุมจำเลยที่ ๒ และที่ ๑ ให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยเคร่งครัดด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างช่วง ต่อจากจำเลยที่ ๒ ก่อสร้างปรับปรุงถนนและทางเท้า ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังจัดให้มีสัญญาณไฟและป้ายเตือนที่มองเห็นได้ชัดก่อนถึงบริเวณก่อสร้างถนน จนเป็นเหตุทำให้นายวิฑูรย์สามีของโจทก์ที่ ๑ และบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณดังกล่าวล้มลงได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครอง และเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๑ ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดทำบริการสาธารณะแทนหรือในนามของจำเลยที่ ๓ ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการจัดให้มีสัญญาณไฟและป้ายเตือนที่มองเห็นได้ชัดก่อนถึงบริเวณก่อสร้างทางหลวงเพื่อให้ผู้ใช้ถนนได้รับความปลอดภัยในการเดินทางตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ และโจทก์กล่าวหาว่าผู้บริหารของจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายและสัญญาดังกล่าวกำหนด กรณีจึงเป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า จำเลยที่ ๓ ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ ปรับปรุงถนนและทางเดินเท้า ถนนสายลวด ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับจ้างช่วงจากจำเลยที่ ๒ แต่ในระหว่างก่อสร้างจำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังมิได้ติดตั้งสัญญาณไฟ ป้ายเตือน แผงเหล็กหรือวัสดุอื่นใดพร้อมดวงไฟติดตลอดแนวที่ยังไม่ได้เปิดให้มีการจราจร จนเป็นเหตุทำให้นายวิฑูรย์สามีของโจทก์ที่ ๑ และบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณดังกล่าวล้มลงได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับจ้างของจำเลยที่ ๒ มิได้เป็นลูกจ้างและได้ใช้ความระมัดระวังโดยติดตั้งป้ายสีส้มแดงบอกทางข้างหน้ามีการก่อสร้างหลายป้าย ค่ารักษาพยาบาลผู้รับประกันภัยได้จ่ายให้โจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิด จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ ๑ และไม่ทราบเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๑ หรือนายวิฑูย์ และจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยที่ ๓ ไม่ใช่นายจ้าง ความเสียหายมิได้เกิดจากการสั่งการและคำสั่งของจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ไม่ได้เป็นผู้เลือกหาผู้รับจ้าง จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จ้างช่วงจำเลยที่ ๑โดยจำเลยที่ ๓ ไม่รู้เห็นหรือเป็นผู้สั่งการ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ ส่งมอบพื้นที่ถนนสายลวดและทางเดินเท้าให้จำเลยที่ ๒ แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดชอบ และเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของนายวิฑูรย์เพียงฝ่ายเดียว เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนผู้รับจ้างช่วงจากจำเลยที่ ๒ กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังกระทำการปรับปรุงถนนและทางเดินเท้าถนนสายลวด โดยมิได้ติดตั้งสัญญาณไฟ ป้ายเตือน แผงเหล็กหรือวัสดุอื่นใด พร้อมดวงไฟติดตลอดแนวที่ยังไม่ได้เปิดให้มีการจราจร เป็นเหตุให้นายวิฑูรย์สามีของโจทก์ที่ ๑ และบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๒ ขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณดังกล่าวล้มลงได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน ที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเพียงเพราะในฐานะผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างให้ปรับปรุงถนนและทางเดินเท้าเท่านั้น เหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสอง จึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๓ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางจรีย์พร พันธุ์สง่า ที่ ๑ เด็กชายปรัชญา พันธุ์สง่า โดยนางจรีย์พร พันธุ์สง่า ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๒ โจทก์ นายสมโภชน์ พัดประดิษฐ์ ที่ ๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเด่นชัยปากน้ำ ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ