คำวินิจฉัยที่ 84/2562

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชน ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๔ ต่อมาจากบิดาซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนปี ๒๔๘๙ เมื่อผู้ฟ้องคดีนำที่ดินตาม ส.ค. ๑ ดังกล่าวไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาหล่มสัก ได้รับแจ้งว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ในเขตที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ พช. ๘๗๖ ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีได้ ทั้งที่ที่ดินพิพาทมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) ก่อนที่ผู้มีชื่อจะเข้ามาจับจอง และประกาศเป็นที่ราชพัสดุ การนำที่ดินพิพาทไปขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ พช. ๘๗๖ จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ พช. ๘๗๖ เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ พช. ๔๖๘ ทั้งแปลง ทั้งผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศบริเวณที่ดินพิพาทก็พบว่าไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวก่อนประกาศเป็นที่ดินราชพัสดุ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ พช. ๘๗๖ เฉพาะส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาท ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไปทั้งมาตรา ๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้การออกโฉนดที่ดิน โดยใช้หลักฐานการแจ้งการครอบครอง เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จะทำได้ต่อเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของ ศาลยุติธรรมว่า บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share