แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารคลังพัสดุพร้อมงานพิเศษ (พัทยา) เพื่อใช้ในกิจการของจำเลย แต่แบบแปลนไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง และจำเลยอนุมัติแบบแปลนล่าช้า ทำให้งานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด เมื่อโจทก์ส่งมอบงานงวดที่ ๗ และที่ ๘ แต่จำเลยไม่ยอมตรวจรับให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า คดีนี้ จำเลยเป็นบริษัทมหาชน จำกัด แปรรูปและรับโอนกิจการมาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตามพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ ตามสัญญาก่อสร้างอาคารคลังพัสดุพร้อมงานพิเศษ (พัทยา) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับเก็บเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมทุกชนิด สำหรับปรับปรุงขยายข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งอะไหล่ของเครื่องและอุปกรณ์สำหรับให้บริการประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ที่สืบเนื่องจากการจัดให้มีเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นต่อการประกอบกิจการโทรคมนาคม และให้บริการด้านโทรคมนาคม อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลย จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๔/๒๕๕๗
วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหชัยสัตหีบ โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๐๑/๒๕๕๖ ความว่า จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารคลังพัสดุพร้อมงานพิเศษ (พัทยา) เพื่อใช้ในกิจการของจำเลย เป็นเงิน ๑๒,๐๕๘,๙๐๐ บาท เมื่อโจทก์ลงมือก่อสร้างปรากฏว่าแบบแปลน แผนผังและรายละเอียดงานก่อสร้างในส่วนฐานราก (เสาเข็ม) แนบท้ายสัญญาจ้างผิดพลาดคลาดเคลื่อนจนถึงขนาดไม่สามารถยึดถือในการก่อสร้างได้ อันเป็นส่วนสาระสำคัญและเป็นความผิดของจำเลย นอกจากนี้จำเลยจัดทำและพิจารณาอนุมัติแบบแปลน แผนผัง และรายละเอียดงานก่อสร้างที่จำเป็นต้องแก้ไขล่าช้าเกินสมควรเป็นอย่างมาก เป็นสาเหตุสำคัญทำให้งานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ ๗ และที่ ๘ แต่จำเลยไม่ยอมตรวจรับ และมีเจตนาส่อทุจริตจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์ล่าช้า ไม่ครบถ้วน และเพิกเฉยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์
จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กำหนด ศาลมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารคลังพัสดุ พร้อมงานพิเศษ (พัทยา) ระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการก่อสร้างอาคาร ซึ่งใช้เป็นสถานที่เก็บเครื่องมืออุปกรณ์โทรคมนาคม เพื่อใช้ประโยชน์ในการบริการด้านโทรคมนาคมของจำเลย เห็นว่า อาคารดังกล่าวเป็นเพียงอาคารสำหรับเก็บวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการโทรคมนาคมเท่านั้น ตัวอาคารไม่ได้มีวัตถุประสงค์ใช้เป็นสถานที่ติดต่อให้บริการประชาชนทั่วไป และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านกิจการโทรคมนาคมของจำเลย การก่อสร้างอาคารดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องโดยตรงอันจะทำให้การบริการสาธารณะของจำเลยบรรลุผล สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าว จึงไม่เป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าจ้างและค่าเสียหายตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องฟ้องร้องผิดสัญญาจ้างในทางแพ่งเท่านั้น กรณีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารคลังพัสดุโทรคมนาคม ซึ่งตั้งอยู่ ณ สำนักงานบริการลูกค้า กสท เขตตะวันออก จังหวัดชลบุรี ตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารคลังพัสดุโทรคมนาคมพร้อมงานพิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับเก็บเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมทุกชนิด สำหรับปรับปรุงขยายข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งอะไหล่ของเครื่องและอุปกรณ์สำหรับให้บริการประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งต้องมีเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมเก็บไว้ในอาคารคลังพัสดุโทรคมนาคมในจำนวนที่เพียงพอต่อการให้บริการโทรคมนาคมและการบำรุงรักษาเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมต่อเนื่องอยู่เสมอ อาคารคลังพัสดุโทรคมนาคมดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานบริการลูกค้า กสท เขตตะวันออก จังหวัดชลบุรี เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านกิจการโทรคมนาคมของจำเลยบรรลุผล นอกจากนี้ในข้อสัญญายังมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยบรรลุผล อีกทั้งสัญญานี้ใช้สัญญาแบบปรับราคาได้ในการคำนวณเพิ่มหรือลดค่าจ้าง ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์และวิธีการตามรายละเอียดในมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวมีลักษณะพิเศษที่ไม่พบในสัญญาทางแพ่งตามกฎหมายเอกชน สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารคลังพัสดุโทรคมนาคมดังกล่าว จึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีลักษณะเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค ทั้งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐและมีข้อสัญญาที่ไม่พบในสัญญาทางแพ่ง ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านกิจการโทรคมนาคมของจำเลยให้บรรลุผล สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้เงินตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารคลังพัสดุโทรคมนาคมพร้อมงานพิเศษของสำนักบริการลูกค้า กสท เขตตะวันออก จังหวัดชลบุรี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๙/๒๕๕๑ ที่ ๓๑/๒๕๔๘ ที่ ๑๒/๒๕๔๘ และที่ ๑/๒๕๔๘
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารคลังพัสดุพร้อมงานพิเศษ (พัทยา) เพื่อใช้ในกิจการของจำเลย เมื่อโจทก์ลงมือก่อสร้างปรากฏว่าแบบแปลนไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง นอกจากนี้จำเลยอนุมัติแบบแปลนล่าช้าเกินสมควร ทำให้งานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด เมื่อโจทก์ส่งมอบงานงวดที่ ๗ และที่ ๘ แต่จำเลยไม่ยอมตรวจรับให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคล ซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้ จำเลยเป็นบริษัทมหาชน จำกัด แปรรูปและรับโอนกิจการมาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโทรคมนาคม และให้บริการด้านโทรคมนาคมทุกลักษณะ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ ตามสัญญาก่อสร้างอาคารคลังพัสดุพร้อมงานพิเศษ (พัทยา) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับเก็บเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมทุกชนิด สำหรับปรับปรุงขยายข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งอะไหล่ของเครื่องและอุปกรณ์สำหรับให้บริการประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ที่สืบเนื่องจากการจัดให้มีเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นต่อการประกอบกิจการโทรคมนาคม และให้บริการด้านโทรคมนาคม อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลย สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด สหชัยสัตหีบ โจทก์ บริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ