แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด สินทรัพย์และอำนาจหน้าที่จากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำเลยที่ ๒ ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติวังน้อยได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ ให้ควบคุมการก่อสร้างสถานีเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติวังน้อย จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างสถานีเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติวังน้อย จำเลยที่ ๔ เป็นผู้รับจ้างจำเลยที่ ๓ ถมดินหินลูกรังและตอกเสาเข็ม จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ถมดินหินลูกรังสูงจากพื้นดินเดิมประมาณ ๓ – ๕ เมตร โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่มิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการระบายน้ำตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำให้เปลี่ยนทางน้ำตามธรรมชาติ ทำให้น้ำไหลซึมต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำออกและการถมที่ดินซึ่งก่อให้เกิดฝุ่นละอองปลิวเข้าไปในสวนกล้วยไม้ของโจทก์ทำให้ต้นอ่อนของกล้วยไม้ไม่เจริญเติบโตและบางส่วนเน่าตาย จำเลยที่ ๔ ตอกเสาเข็มเกิดแรงสั่นสะเทือนและเสียงดังมากเป็นเหตุให้เสารองกระบะทรุดตัว รากต้นอ่อนกล้วยไม้คลายตัวจากกระบะและฝุ่นละอองปลิวมาจากที่ดินของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้ต้นอ่อนกล้วยไม้แคระแกร็น ใบเหลือง และบางส่วนแห้งตาย การกระทำดังกล่าวมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นแต่อย่างใด ทั้งการที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ร่วมรับผิด โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการก่อสร้างสถานีเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติวังน้อยเป็นเพียงหน้าที่ทั่วไป มิใช่หน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการกระทำละเมิดที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม