คำวินิจฉัยที่ 61/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ยึดและขายทอดตลาดที่ดิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของตนเองไม่ใช่ของนาย พ. ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรเนื่องจากได้รับการยกให้ตามบันทึกการหย่าโดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำให้การว่า นาย พ. ค้างชำระภาษีอากร และทราบการประเมินแล้วไม่อุทธรณ์ จึงเป็นหนี้ภาษีอากรค้างชำระยุติเด็ดขาด นาย พ. เป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนที่ดิน การยึดที่ดิน เพื่อบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างชำระชอบด้วยกฎหมายแล้ว ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นเรื่องการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินที่ยึด การฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นไปเพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินพิพาทเป็นสำคัญ โดยศาลต้องวินิจฉัยว่าสิทธิครอบครองใน น.ส. ๓ ก. ทรัพย์พิพาทตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นของผู้ฟ้องคดีตามบันทึกการหย่าหรือยังคงเป็นของนาย พ. ซึ่งเป็นการวินิจฉัยในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา ตามบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๑/๒๕๕๙

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน

ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดชุมพร

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ นางฐาปานีย์ อมรพงศ์พิบูล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมสรรพากร ที่ ๑ สรรพากรภาค ๑๑ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๗/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๓๒๗ ตำบลสองพี่น้อง (สลุย) อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๓๒ ตารางวา ได้รับการยกให้จากนายพูลศักดิ์ โทธานี ในการจดทะเบียนหย่าตามบันทึกท้ายใบหย่า เลขที่ ๘/๑๕๕๑ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๑ แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อทางทะเบียนเป็นของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากอยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิว่าที่ดินแปลงดังกล่าวออกเอกสารสิทธิทับที่ดินป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่วันที่ได้รับการยกให้เรื่อยมา ต่อมาวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ ให้ยึดที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๗ เพื่อขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้ภาษีอากรที่นายพูลศักดิ์ค้างชำระ ทั้งที่ที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยึดดังกล่าว ไม่ได้เป็นของนายพูลศักดิ์แต่เป็นของผู้ฟ้องคดี การยึดทรัพย์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือคัดค้าน การยึดที่ดินดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่าการยึดที่ดินดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการยึดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๗
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำให้การและให้การเพิ่มเติมว่า นายพูลศักดิ์ค้างชำระภาษีอากรต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ สาขาท่าแซะ ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน ๒,๑๘๑,๗๑๔ บาท และนายพูลศักดิ์ทราบการประเมินแล้วไม่ได้อุทธรณ์ จึงเป็นหนี้ภาษีอากรค้างชำระยุติเด็ดขาด การได้มาซึ่งที่ดินของผู้ฟ้องคดีมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ และมาตรา ๑๓๗๓ ข้อตกลงระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนายพูลศักดิ์ จึงเป็นเพียงบุคคลสิทธิไม่สามารถใช้ยันผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ นายพูลศักดิ์ได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากบิดาถือเป็นสินส่วนตัวของนายพูลศักดิ์และที่ดินได้ถูกอายัดตามหนังสือบังคับคดี นายพูลศักดิ์จึงไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีได้และตั้งแต่ปีภาษี ๒๕๕๒ ถึงปีภาษี ๒๕๕๗ ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีนำรายได้จากการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นายพูลศักดิ์เป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนที่ดิน การยึดที่ดินของนายพูลศักดิ์เพื่อบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างชำระดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ฟ้องคดียื่นหนังสือคัดค้านคำให้การว่า ผู้ฟ้องคดีได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่นายพูลศักดิ์แสดงเจตนาสละการครอบครอง ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่ดินของนายพูลศักดิ์ ตั้งแต่วันที่๑๗ มกราคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันที่จดทะเบียนหย่า แต่เนื่องจากที่ดินถูกอายัดไว้แล้วตั้งแต่วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ โดยมีคำสั่งให้งดการจดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน จึงไม่สามารถจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อได้ ต่อมาเมื่อมีการเพิกถอนการอายัดผู้ฟ้องคดีก็ไม่สามารถจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองที่ดินให้ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากมีปัญหาว่าที่ดินดังกล่าวอาจอยู่ในเขตป่าไม้จึงไม่สามารถโอนทางทะเบียนได้จนถึงปัจจุบัน
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีเป็นการโต้แย้งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ถูกต้องและกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ประกอบมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คัดค้านการยึดทรัพย์สินให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามหนังสือที่ กค ๐๗๑๕/๑๑๒๙ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังได้ระบุไว้ในหมายเหตุด้านหลังหนังสือดังกล่าวว่า กรณีไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาสามารถยื่นฟ้อง

ต่อศาลปกครองได้ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณาตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนการที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นของนายพูลศักดิ์หรืออยู่ในเขตป่าไม้ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นย่อยเท่านั้น เมื่อประเด็นหลักแห่งคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลปกครองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นย่อยดังกล่าวได้คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชุมพรพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยึดทรัพย์เพื่อชำระค่าภาษีอากรค้างชำระของนายพูลศักดิ์ แม้นายพูลศักดิ์จะมีชื่อเป็นเจ้าของทางทะเบียนก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวนายพูลศักดิ์ยกให้ผู้ฟ้องคดีตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๑ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองทำประโยชน์เรื่อยมา ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครอง นายพูลศักดิ์ได้สละ การครอบครองตั้งแต่วันยกให้ในการจดทะเบียนหย่า ที่ดินจึงเป็นของผู้ฟ้องคดี ดังนี้เมื่อพิจารณาคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ให้ศาลเพิกถอนการยึดที่ดินดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ฟ้องคดีมีความมุ่งหมายให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีได้ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทที่ผู้ถูกฟ้องคดียึดเพื่อบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างชำระนั้นเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นของนายพูลศักดิ์หรือไม่เป็นสำคัญ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี แล้วจึงพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๓๒๗ ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ได้รับการยกให้จากนายพูลศักดิ์ โทธานี ในการจดทะเบียนหย่า แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อทางทะเบียนเป็นของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากอยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิว่าที่ดินแปลงดังกล่าวออกเอกสารสิทธิทับที่ดินป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ ให้ยึดที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๗ เพื่อขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้ภาษีอากรที่นายพูลศักดิ์ค้างชำระ ทั้งที่ที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยึดดังกล่าวไม่ใช่ของนายพูลศักดิ์แต่เป็นของผู้ฟ้องคดี การยึดทรัพย์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการยึดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๗ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่น

คำให้การและให้การ เพิ่มเติมว่านายพูลศักดิ์ค้างชำระภาษีอากร ต่อสำนักงานสรรพากรตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและนายพูลศักดิ์ทราบการประเมินแล้ว ไม่อุทธรณ์ จึงเป็นหนี้ภาษีอากรค้างชำระยุติเด็ดขาด นายพูลศักดิ์เป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนที่ดิน การยึดที่ดินของนายพูลศักดิ์เพื่อบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างชำระดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ให้ยึดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๒๗ โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีซึ่งได้รับการยกให้จากนายพูลศักดิ์ โทธานี ตามบันทึกท้ายใบหย่าแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อทางทะเบียน คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินที่ยึด การฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นไปเพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินพิพาทเป็นสำคัญ โดยศาลต้องวินิจฉัยว่าสิทธิครอบครอง ใน น.ส. ๓ ก. ทรัพย์พิพาทตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นของผู้ฟ้องคดีตามบันทึกการหย่า หรือยังคงเป็นของนายพูลศักดิ์ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตามบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางฐาปานีย์ อมรพงศ์พิบูล ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมสรรพากร ที่ ๑ สรรพากรภาค ๑๑ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share