แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยอ้างว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ ที่ครอบครองอยู่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินประกาศใช้บังคับ แต่ยังไม่มีการออกโฉนด และโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบางส่วนสืบต่อจากนายทิด ต่อมาทางราชการประกาศให้มีการออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ รวมถึงบริเวณที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ จึงไปยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัด ซึ่งได้รังวัดและออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมลงลายมือชื่อในแบบรับรองการรังวัด อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ จากนั้นโจทก์ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวอีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ไม่ทำการรังวัดให้ อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์เห็นว่าไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่เป็นที่ดินของโจทก์ซึ่งโจทก์ไม่เคยสละสิทธิ์ โจทก์จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตลอดมา ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ที่ดินตาม ส.ค. ๑ ในส่วนที่ขอออกโฉนดที่ดินเป็นของโจทก์ และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำคัดค้านของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมานานโดยไม่มีการคัดค้าน จึงเป็นการอุทิศให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยปริยาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๕๗
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ นายสุทัศน์ ไฝเพชร โดยนางดวงพร ไฝเพชร ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ ยื่นฟ้องผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ โดยนายสยามหรือสวัสดิ์ ไฝเพชร ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๘๙/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายทิด ไฝเพชร และเป็นทายาทของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ เมื่อประมาณปี ๒๔๗๐ นายลอยและนางแพ ไฝเพชร ได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์โดยการทำนาในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตหมู่ที่ ๒ ต่อมาปี ๒๔๙๘ นางลอย นางแพ และนายทิด ไฝเพชร ได้แจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าวต่อนายอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ครอบครองอยู่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินประกาศใช้บังคับ มีเนื้อที่ระบุใน ส.ค. ๑ จำนวน ๒ ไร่ ๘๐ ตารางวา แต่ปัจจุบันมีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีเนื้อที่ครอบครองอยู่จริงประมาณ ๘ ไร่ ต่อมานายทิดถึงแก่ความตาย จึงยังไม่มีการออกโฉนด ที่ดินบางส่วนมีศาลเจ้าเก่าแก่ปลูกสร้างอยู่ และอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ เข้าใจว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงได้ใช้งบประมาณของทางราชการสร้างลานปูนซิเมนต์เพื่อตากข้าวสำหรับราษฎรใช้ร่วมกัน รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒ ไร่ ซึ่งโจทก์และทายาทนายลอยทราบเรื่องแต่มิได้ว่ากล่าว เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะและเป็นลานปูนตากข้าวที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ แต่มิได้มีเจตนาจะยกให้เป็นที่สาธารณะแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ ๑ เข้ารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ได้ใช้งบประมาณของทางราชการปลูกสร้างอาคารอเนกประสงค์ จำนวน ๑ หลัง ในที่พิพาทโดยมิได้ขออนุญาตจากโจทก์หรือทายาทคนอื่นๆ โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ค. ๑) ดังกล่าวบางส่วนสืบต่อจากนายทิด เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๔ ตารางวา ต่อมาทางราชการประกาศให้มีการออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ รวมถึงบริเวณที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ จึงไปยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สาขาอู่ทอง ซึ่งได้รังวัดและออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ได้เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๔ ตารางวา แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมลงลายมือชื่อในแบบรับรองการรังวัดอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์และจำเลยที่ ๒ ก็ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้กระจ่างชัด โจทก์ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ จากนั้นโจทก์ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวอีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ไม่ทำการรังวัดให้อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์เห็นว่า ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่เป็นที่ดินของโจทก์ ซึ่งโจทก์ไม่เคยสละสิทธิ์ โจทก์จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตลอดมา ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ที่ดินตาม ส.ค. ๑ ในส่วนที่ขอออกโฉนดที่ดินบริเวณศาลเจ้าและลานปูนตากข้าวเป็นของโจทก์และทายาทนางลอย ไฝเพชร และมีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมานานโดยไม่มีการโต้แย้งคัดค้าน จึงเป็นการอุทิศให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยปริยาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองในการที่ไม่รับรองแนวเขตและไม่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ ไม่ถูกต้องก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้ที่ดินบริเวณที่พิพาทเป็นของโจทก์และเพิกถอนที่ดินบริเวณพิพาทที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายทิด ไฝเพชร และเป็นทายาทผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๐ ตารางวา ได้ยื่นขอออกโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สาขาอู่ทอง ซึ่งได้รังวัดที่ดินให้โจทก์เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ แล้วได้เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๐ ตารางวา แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมาในปี ๒๕๕๒ โจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินอีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ไม่ทำการรังวัดให้ โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์เห็นว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์แต่เป็นที่ดินของโจทก์ ซึ่งโจทก์ไม่เคยสละสิทธิ์ โจทก์จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตลอดมา จึงฟ้องต่อศาลขอให้ที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๐ ตารางวา เป็นของโจทก์ ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะตัวแทนนายอำเภออู่ทอง คัดค้านการรังวัดที่ดินดังกล่าวของโจทก์ตามใบไต่สวนที่ดิน โดยอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่นายอำเภออู่ทอง มีหน้าที่ในการดูแลรักษาตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ประกอบกับมาตรา ๖๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และข้อ ๕ (๒) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๔ นั้น จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ฟ้องว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์แต่เป็นที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้ที่ดินแปลงพิพาทเป็นของโจทก์ และให้เพิกถอนที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ มิใช่คดีที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด เนื่องจากนายอำเภออู่ทองโดยจำเลยที่ ๑ มิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและมิได้กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อโต้แย้งสิทธิกับโจทก์ หรือยกข้อต่อสู้เพื่อหักล้างกันว่าใครมีสิทธิดีกว่ากัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างเอกชนด้วยกันเอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐและจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยอ้างว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) โดยมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ครอบครองอยู่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินประกาศใช้บังคับ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๘๐ ตารางวา แต่ยังไม่มีการออกโฉนด และโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ค. ๑) ดังกล่าวบางส่วนสืบต่อจากนายทิด เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๔ ตารางวา ต่อมาทางราชการประกาศให้มีการออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ รวมถึงบริเวณที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ จึงไปยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สาขาอู่ทอง ซึ่งได้รังวัดและออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ได้เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๙๔ ตารางวา แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมลงลายมือชื่อในแบบรับรองการรังวัด อ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ และจำเลยที่ ๒ ก็ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โจทก์ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ จากนั้นโจทก์ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวอีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ไม่ทำการรังวัดให้อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์เห็นว่า ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่เป็นที่ดินของโจทก์ซึ่งโจทก์ไม่เคยสละสิทธิ์ โจทก์จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตลอดมา ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ที่ดินตาม ส.ค. ๑ ในส่วนที่ขอออกโฉนดที่ดินเป็นของโจทก์ และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำคัดค้านของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมานานโดยไม่มีการคัดค้าน จึงเป็นการอุทิศให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยปริยาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ที่ดินตาม ส.ค. ๑ ในส่วนที่ขอออกโฉนดที่ดินเป็นของโจทก์และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำคัดค้านของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้ผู้ที่มี ส.ค. ๑ นำหลักฐานมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ (ใช้บังคับวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑) โดยหากพ้นกำหนดดังกล่าว จะออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ต่อเมื่อศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่า ผู้ที่มี ส.ค. ๑ ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่งเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายให้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่ตรวจสอบสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสุทัศน์ ไฝเพชร โดยนางดวงพร ไฝเพชร ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ โดยนายสยามหรือสวัสดิ์ ไฝเพชร ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ