คำวินิจฉัยที่ 6/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๖/๒๕๔๙

วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ บริษัท คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ ๑ บริษัท เอสที เพาเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุพรรณีมาร์เก็ตติ้ง ที่ ๑ การประปานครหลวง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๕๖๓/๒๕๔๗ความว่า จำเลยที่ ๒ เป็นรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจหน้าที่สำรวจ จัดหาแหล่งน้ำดิบ ผลิต จัดส่งและจำหน่ายน้ำประปา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๕ จำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาเลขที่ E – TR(BK)-๗ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองให้บริการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับสถานีสูบส่งน้ำบางเขน ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการประปาของกรุงเทพมหานครโครงการ ๗ และเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๒ทำสัญญาจ้างเลขที่ ๐๒๖๓๐๕๘๔๖ ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ทำงานกำจัดตะกอนพร้อมงานที่เกี่ยวข้องบริเวณโรงงานผลิตน้ำบางเขน เพื่อประโยชน์ในการผลิตน้ำประปาของจำเลยที่ ๒ ในเดือนธันวาคม ๒๕๔๖ โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ ๒ ได้นำเครื่องสูบน้ำพร้อมอุปกรณ์ไปติดตั้งในโรงสูบน้ำของจำเลยที่ ๒ ซึ่งอยู่ติดกับบ่อตากตะกอนที่จำเลยที่ ๑ ดำเนินการขุดลอกตะกอนอยู่ ต่อมา วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ ขอบคันดินบ่อตากตะกอนของจำเลยที่ ๒ พังทลายลงเพราะปราศจากการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพแข็งแรง เป็นเหตุให้น้ำและโคลนในบ่อตากตะกอนไหลเข้าท่วมบริเวณโรงสูบน้ำบางเขนและประตูน้ำของงานตามสัญญาที่โจทก์ทั้งสองทำไว้กับจำเลยที่ ๒ ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งเสียหายหลายรายการได้แก่ เครื่องสูบน้ำ มอเตอร์ อุปกรณ์ควบคุมประตูน้ำ วาล์วและทรัพย์สินอื่นๆ โจทก์ทั้งสองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำและทำความสะอาด เปลี่ยนแปลงซ่อมแซมอุปกรณ์ รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ครอบครองบ่อตากตะกอนร่วมกับจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินจำนวน๗๐,๔๔๗,๐๐๘.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ประมาทเลินเล่อ แต่บ่อตากตะกอนของจำเลยที่ ๒ แตกพังทลายเพราะมีผู้รับจ้างของจำเลยที่ ๒ รายอื่นทำการก่อสร้างโรงงานสูบน้ำ และหอปรับความดันทำให้เกิดการสั่นสะเทือนบริเวณดังกล่าวอันเป็นสาเหตุของความเสียหาย จำเลยที่๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเกิน ๑ ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุควาจำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลพื้นที่บ่อตากตะกอน จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุที่เกิดขึ้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และค่าเสียหายตามฟ้องเกินกว่าความเป็นจริง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ทั้งสองยื่นคำชี้แจงว่า สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๒ มิใช่สัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแพ่งเห็นว่ ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดจากการที่ขอบคันดินบ่อตากตะกอนในบริเวณโรงสูบน้ำของจำเลยที่ ๒ พังทลายลง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้ จำเลยที่ ๒ เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ บัญญัติให้จำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการบริการสาธารณะเกี่ยวกับการสำรวจ จัดหาแหล่งน้ำดิบ และจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบเพื่อใช้ในการประปา ผลิต จัดส่ง และจำหน่ายน้ำประปาในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ การที่จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ทำงานกำจัดตะกอนพร้อมงานที่เกี่ยวข้องบริเวณโรงงานผลิตน้ำบางเขน เพื่อประโยชน์ในการผลิตน้ำประปา จึงเป็นการกระทำโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ดำเนินการขุดลอกตะกอนบริเวณโรงงานผลิตน้ำบางเขน เป็นเหตุให้ขอบคันดินบ่อตากตะกอนพังทลายลงเพราะปราศจากการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพแข็งแรง ทำให้น้ำและโคลนในบ่อตากตะกอนไหลเข้าท่วมบริเวณโรงสูบน้ำบางเขน และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งตามสัญญาเลขที่ E – TR (BK) – ๗ ได้รับความเสียหายหลายรายการ โจทก์ทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ เอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นหน่วยงานทางปกครองว่าทำละเมิดโดยโจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับจ้างจัดซื้อและติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมอุปกรณ์ให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่บริเวณโรงงานผลิตน้ำบางเขน นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ ยังว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ดำเนินการกำจัดตะกอนโดยมีบ่อตากตะกอนอยู่ติดกับโรงงานสูบน้ำดังกล่าว ต่อมาขอบคันดินของบ่อตากตะกอนพังทลายเป็นเหตุให้น้ำและโคลนในบ่อไหลเข้าท่วมโรงงานสูบน้ำทำให้มอเตอร์ และอุปกรณ์อื่นของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิด ส่วนจำเลยที่๒ เป็นเจ้าของบ่อตากตะกอนจึงต้องร่วมกันรับผิดด้วย คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่าการทำละเมิดตามฟ้องเป็นการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ เห็นว่า ข้อพิพาทคดีนี้เกิดจากขอบคันดินของบ่อตากตะกอนพังทลาย แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นผู้รับจ้างทำการขุดลอกตะกอนให้แก่จำเลยที่ ๒ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่จำเลยที่ ๑ ก็เป็นเพียงเอกชนผู้รับจ้างเท่านั้น มิใช่หน่วยงานทางปกครอง ทั้งการละเมิดตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์นั้นก็เกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ทำการขุดลอกบ่อตากตะกอนตามสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยที่ ๒ มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด และแม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์คงเพียงแต่ให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ครอบครองสถานที่ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ดังนั้น คดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทอันเกิดจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัท คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ ๑ บริษัท เอสที เพาเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ ๒ โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุพรรณีมาร์เก็ตติ้ง ที่ ๑การประปานครหลวง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน

Share