แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเอกชนและหน่วยงานทางปกครองว่าจำเลยที่ ๒ ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียบริเวณถนนนครศรีธรรมราช จำเลยที่ ๑ ได้ขุดดินก่อสร้างบ่อคอนกรีต ทำให้อาคารของโจทก์แตกร้าวทรุดลงได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กล่าวอ้างว่า อาคารของโจทก์แตกร้าวทรุดลงได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ทำการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย การขุดดินก่อสร้างบ่อคอนกรีตของจำเลยที่ ๑ ทำให้อาคารของโจทก์แตกร้าวทรุดลง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย ประเด็นแห่งคดี จึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนผู้รับจ้างจากเหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๔/๒๕๕๗
วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๕ นางกิตติกร คัมภีรปรีชา โจทก์ ยื่นฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์ ที่ ๑ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๙๕/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านเลขที่ ๑๘, และ ๑๘/๑ ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๓๓ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณต้นปี ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๒ จัดทำโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียบริเวณถนนนครศรีธรรมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยว่าจ้างจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับจ้าง จำเลยที่ ๑ ได้ขุดดินก่อสร้างบ่อคอนกรีต ทำให้อาคารของโจทก์แตกร้าวทรุดลง โจทก์ได้รับความเสียหายและทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ และรักษาความสะอาดของถนน ทางเดินที่สาธารณะ กำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาตามหลักวิชาการและข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาก่อสร้างอย่างครบถ้วน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคารโจทก์ตามฟ้องเพราะอาคารมีสภาพเก่าใช้งานนานหลายปีและมีการต่อเติมให้เชื่อมต่อกัน จึงเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานมิใช่เกิดจากการก่อสร้าง จำเลยที่ ๑ ซึ่งต้องการให้งานดำเนินการต่อไปจึงยินยอมซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย แต่โจทก์แจ้งว่าการซ่อมแซมนั้นไม่ตรงตามความต้องการของโจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงไม่สามารถซ่อมแซมอาคารได้ และโจทก์ยังคงใช้ประโยชน์ในอาคารทั้งสองอย่างปกติ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกินความเป็นจริงจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
อนึ่ง ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในส่วนจำเลยที่ ๒ และจำหน่ายคดีส่วนของจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ระหว่างจำเลยที่ ๑ ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาอาคารของโจทก์เกิดแตกร้าวทรุดลงได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ มิใช่หน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนี้การกระทำละเมิดที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องจึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐ แต่กรณีเป็นการกระทำละเมิดซึ่งความรับผิดเพื่อละเมิดเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายเอกชน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงทางระบายน้ำและรักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ตามมาตรา ๕๐ (๓) มาตรา ๕๓ (๑) (๕) และมาตรา ๕๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครศรีธรรมราช ด้วยวิธีการขุดดินและดันท่อลอด เมื่อก่อสร้างผ่านหน้าอาคารโจทก์เกิดการกระเทือนต่ออาคารจนแตกร้าวทรุดลงได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย การที่จำเลยที่ ๒ ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ในการจัดให้มีและบำรุงทางระบายน้ำและรักษาความสะอาดของถนนหรือทางสาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ถือเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ เอกชนเป็นผู้ดำเนินการแทน เมื่อการก่อสร้างดังกล่าวทำให้เอกชนได้รับความเสียหายคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเอกชนและหน่วยงานทางปกครองว่าจำเลยที่ ๒ ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียบริเวณถนนนครศรีธรรมราช จำเลยที่ ๑ ได้ขุดดินก่อสร้างบ่อคอนกรีต ทำให้อาคารของโจทก์แตกร้าวทรุดลง โจทก์ได้รับความเสียหายและทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ ให้ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาตามหลักวิชาการและข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาก่อสร้างอย่างครบถ้วน ความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะอาคารมีสภาพเก่าและมีการต่อเติมจึงเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานมิใช่เกิดจากการก่อสร้าง จำเลยที่ ๑ ยินยอมซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย แต่ไม่ตรงตามความต้องการของโจทก์และโจทก์ยังคงใช้ประโยชน์ในอาคารทั้งสองอย่างปกติ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกินความเป็นจริง ซึ่งโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ และศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กล่าวอ้างว่า อาคารของโจทก์แตกร้าวทรุดลงได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ทำการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย การขุดดินก่อสร้างบ่อคอนกรีตของจำเลยที่ ๑ ทำให้อาคารของโจทก์แตกร้าวทรุดลง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนผู้รับจ้างจากเหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางกิตติกร คัมภีรปรีชา โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์ ที่ ๑ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ