คำวินิจฉัยที่ 52/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่าผู้ฟ้องคดี เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่มีเอกสาร ภ.ท.บ. ๕ แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอรังวัดออกโฉนดโดยอาศัยแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๕๐๕ ขอรังวัดออกโฉนดทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ให้การว่า ที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นวัดร้างมาแต่เดิมและเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) การรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นการออกคำสั่ง ซึ่งให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ พิจารณาและสั่งการไปตามที่เห็นสมควร ขอให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินสั่งการให้ออกโฉนดเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่าการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินที่เป็นวัดร้างมาแต่เดิมและเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๕๐๕ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๒/๒๕๕๗

วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นางหอน ม่วงเพชร ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สาขาอู่ทอง ที่ ๑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๔๙/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีเอกสาร ภ.ท.บ. ๕ หน่วยที่ ๙ เลขสำรวจที่ ๑๓๗ ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๖ ไร่ ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อนายโหน่ง ม่วงเพชร เป็นผู้ครอบครอง นายโหน่งยกให้นายหล่อ ม่วงเพชร น้องชาย ซึ่งเป็นสามีของผู้ฟ้องคดี เมื่อนายหล่อตาย ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองทำประโยชน์และชำระภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ขอรังวัดที่ดินโดยอาศัยแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๕๐๕ เนื้อที่ ๒๙ ไร่ ๓ งาน ๖๐ ตารางวา เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัดคำนวณเนื้อที่แล้วปรากฏว่ามีเนื้อที่ ๓๗ ไร่ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น ๗ ไร่ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ และผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านการรังวัดดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งที่ ๑/๒๕๕๖ ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า เอกสาร ภ.ท.บ. ๕ ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิตามประมวล กฎหมายที่ดิน บุคคลที่มีชื่ออาจไม่ใช่เจ้าของที่ดินก็ได้ และการรังวัดคำนวณเนื้อที่ในการออกโฉนดที่ดิน เป็นการรังวัดและคำนวณเนื้อที่ต่างวิธีกัน ประกอบกับผู้ปกครองท้องที่ กำนันตำบลบ้านดอน ผู้รับมอบอำนาจจากนายอำเภออู่ทอง ได้ลงนามว่าได้ดำเนินการตรวจสอบที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินแล้ว ที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นวัดร้างมาแต่เดิมและเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบกรณีการรังวัดออกโฉนดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการออกคำสั่งตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาและสั่งการไปตามที่เห็นสมควร ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหน่วยงานราชการ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลส่งเสริม ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถาน รวมทั้งดูแลรักษาและจัดการเกี่ยวกับวัดร้างและสมบัติกลางในจังหวัด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอรังวัดออกโฉนดโดยอาศัยแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๕๐๕ ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งที่ดิน ดังกล่าวเป็นของวัดมาแต่เดิม การที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีสั่งการให้ออกโฉนดเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่จะวินิจฉัยว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าสิทธิที่ดินพิพาทเป็นของวัดเหนือ (ร้าง) กับสิทธิของผู้ฟ้องคดีตามคำฟ้อง ซึ่งอ้างว่าได้ครอบครองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทนั้น ใครเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จึงเป็นกรณีโต้แย้งเรื่องเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การสอบสวนเปรียบเทียบในกระบวนการออกโฉนดที่ดินเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบสั่งการให้ออกโฉนดให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนประเด็นผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ใดเป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การออกโฉนดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแห่งคดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใดๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอรังวัดออกโฉนดโดยอาศัยแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) โดยผู้ฟ้องคดีคัดค้านการรังวัด อ้างว่าทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีไปด้วย และขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีข้อประเด็นโต้เถียงเรื่องสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นประเด็นพิพาทหลัก ดังนั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีหรือวัดเหนือเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จากนั้นจึงจะพิจารณาต่อไปว่าการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ออกคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นประเด็นคำขอรอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่มีเอกสาร ภ.ท.บ. ๕ แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอรังวัดออกโฉนดโดยอาศัยแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๕๐๕ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านการรังวัดแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งที่ ๑/๒๕๕๖ ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ให้การว่า เอกสาร ภ.ท.บ. ๕ ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน บุคคลที่มีชื่ออาจไม่ใช่เจ้าของที่ดินก็ได้ ที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นวัดร้างมาแต่เดิมและเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๕๐๕ การรังวัดออกโฉนดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการออกคำสั่ง ซึ่งให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาและสั่งการไปตามที่เห็นสมควร ขอให้ยกฟ้อง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๒ ขอรังวัดออกโฉนดโดยอาศัยแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นของวัดมาแต่เดิม การที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สั่งการให้ออกโฉนดเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินที่เป็นวัดร้างมาแต่เดิม และเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๕๐๕ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางหอน ม่วงเพชร ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สาขาอู่ทอง ที่ ๑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share