แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
เอกชนเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำเลยที่ ๑ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยที่ ๒ นำที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรและออกเป็น ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข จำนวน ๓ แปลงให้แก่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเอกชน ขอให้เพิกถอน ส.ป.ก.๔-๐๑ ข ทั้งสามแปลง หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จ่ายค่าทดแทนในการเวนคืนตามกฎหมาย ให้ขับไล่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ กับส่งมอบที่ดินคืนในสภาพเดิม และให้ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า การจัดสรรและการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง คดีจึงขาดอายุความ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เมื่อทางราชการมีนโยบายออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ให้แก่ราษฎรผู้ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน จึงยื่นแบบแสดงความจำนงขอให้ออก ส.ป.ก. ๔ -๐๑ ข โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ทั้งไม่เคยบอกกล่าวให้ออกจากที่ดินพิพาท และไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย เห็นว่า เป็นการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๗/๒๕๕๙
วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดอุดรธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุดรธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุดรธานีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗ นางสิริกาญจน์ เนติวิธวรกุล โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ที่ ๒ นายสุข หน่อสุวรรณ ที่ ๓ นายคำภา โสวาปี ที่ ๔ นายจักรี สุขาวาปี ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๘๐/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายนิติวัตหรือขาล เนติวิธวรกุลหรือหล้าศักดิ์ เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เล่มที่ ๒ หน้า ๑๑๕ ตำบลจำปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ ๕๐ ไร่ เป็นชื่อของนายนิติวัติหรือขาล ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของนายนิติวัตหรือขาลได้โอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นของโจทก์ แต่เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ นำที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรและออกเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) แปลงเลขที่ ๒๐ เลขที่ ๖๒๒๙ เล่มที่ ๖๓ หน้าที่ ๒๙ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๒ ตารางวา ให้แก่ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ และแปลงเลขที่ ๒๘ เลขที่ ๖๒๑๓ เล่มที่ ๖๓ หน้าที่ ๑๓ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๔๕ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๔ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ และเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ นำที่ดินบางส่วนของโจทก์ไปจัดสรรและออกเป็น ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข แปลงเลขที่ ๒๗ เลขที่ ๙๐๔๖ เล่มที่ ๙๑ หน้าที่ ๔๖ เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๕๕ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๕ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ โดยที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวมิใช่ที่ดินของรัฐหรือรัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ การจัดสรรและออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกถอนการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ทั้งสามแปลง และบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ออกจากที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ทั้งสามแปลง หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จ่ายค่าทดแทนในการเวนคืนตามกฎหมายแก่โจทก์ ให้ขับไล่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ออกจากที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ในสภาพเดิม ให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า การจัดสรรและการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ให้แก่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ นั้น จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดำเนินการไปตามกฎหมายทุกประการ โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลานานแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เมื่อทางราชการมีนโยบายออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ให้แก่ราษฎรผู้ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และราษฎรคนอื่นจึงยื่นแบบแสดงความจำนงขอให้ออก ส.ป.ก. ๔ -๐๑ ข โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ทั้งไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ศาลอนุญาต
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว แต่เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ทับซ้อนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ ประกอบกับโจทก์และจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ยังคงโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอ ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ นำที่ดินตาม น.ส. ๓ เล่ม ๒ หน้า ๑๑๕ ตำบลจำปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ ๕๐ ไร่ ของโจทก์ไปออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข แปลงเลขที่ ๒๐ เลขที่ ๖๒๒๙ เล่มที่ ๖๓ หน้าที่ ๒๙ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๒ ตารางวา แปลงเลขที่ ๒๘ เลขที่ ๖๒๑๓ เล่มที่ ๖๓ หน้า ๑๓ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๔๕ ตารางวา และแปลงเลขที่ ๒๗ เลขที่ ๙๐๔๖ เล่มที่ ๙๑ หน้า ๔๖ เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๕๕ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมิใช่ที่ดินที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่นำมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ กำหนดไว้ นั้น เห็นว่า หนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข) เป็นการใช้อำนาจของปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์อ้างว่าการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลมี คำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ทั้งสามฉบับดังกล่าวข้างต้น หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จ่ายค่าทดแทนในการเวนคืนตามกฎหมายแก่โจทก์ ฯลฯ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้โจทก์อ้างว่าเป็นการฟ้องการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและฟ้องขับไล่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ก็ตาม แต่เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ซึ่งเป็นเพียงหลักฐานแสดงการอนุญาตให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเท่านั้น จึงไม่มีประเด็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ อีกทั้งที่ดินตาม ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ดังกล่าวเดิมอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าเวียงคำและป่าศรีธาตุ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๗๒๔ (พ.ศ. ๒๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบล..และตำบลจำปี…ตำบลศรีธาตุ…อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงเป็นการนำที่ดินของทางราชการมาออก ส.ป.ก. ๔- ๐๑ ข ทั้งสามฉบับ คดีนี้จึงไม่มีประเด็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน ดังนั้น เมื่อคดีในส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นประเด็นหลักในคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีในส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ จึงควรได้รับการพิจารณาในศาลเดียวกัน คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์เป็นเอกชน ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน โดยโจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เล่มที่ ๒ หน้า ๑๑๕ ตำบลจำปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ ๕๐ ไร่ ถูกจำเลยที่ ๑ นำไปจัดสรรและออกเป็นส.ป.ก. ๔-๐๑ ข แปลงเลขที่ ๒๐ เลขที่ ๖๒๒๙ เล่มที่ ๖๓ หน้าที่ ๒๙ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๒ ตารางวา แปลงเลขที่ ๒๘ เลขที่ ๖๒๑๓ เล่มที่ ๖๓ หน้า ๑๓ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๔๕ ตารางวา และแปลงเลขที่ ๒๗ เลขที่ ๙๐๔๖ เล่มที่ ๙๑ หน้า ๔๖ เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๕๕ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ตามลำดับโดยที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว มิใช่ที่ดินของรัฐหรือรัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ และ ที่ ๒ เพิกถอน การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ทั้งสามแปลง และบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ออกจากที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ทั้งสามแปลง หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จ่ายค่าทดแทนในการเวนคืนตามกฎหมายแก่โจทก์ ให้ขับไล่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ออกจากที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ในสภาพเดิม ให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า การจัดสรรและการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ให้แก่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ นั้น จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดำเนินการไปตามกฎหมายทุกประการ โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครองคดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลานานแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เมื่อทางราชการมีนโยบายออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข ให้แก่ราษฎรผู้ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และราษฎรคนอื่นจึงยื่นแบบแสดง ความจำนงขอให้ออก ส.ป.ก. ๔ -๐๑ ข โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ทั้งไม่เคยบอกกล่าว ให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ศาลอนุญาต เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเอกชนต่อศาลยุติธรรม โดยมีคำขอให้ศาลเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ข พิพาท หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จ่ายค่าทดแทนในการเวนคืน ตามกฎหมาย ให้ขับไล่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ออกจากที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินในสภาพเดิม และให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย อันเป็นการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสิริกาญจน์ เนติวิธวรกุล โจทก์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๑ นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ที่ ๒ นายสุข หน่อสุวรรณ ที่ ๓ นายคำภา โสวาปี ที่ ๔ นายจักรี สุขาวาปี ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ