คำวินิจฉัยที่ 39/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) ขอออกโฉนดที่ดินและเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ออกใบไต่สวนให้แก่โจทก์แล้วเรื่องอยู่ระหว่างรอออกโฉนดที่ดิน แต่ถูกจำเลยที่ ๑ คัดค้านอ้างว่าที่พิพาทเป็นที่ดินรถไฟอยู่ในเขตพื้นที่ของจำเลยที่ ๑ ทำให้จำเลยที่ ๒ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โดยไม่ดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบไต่สวน ห้ามจำเลยที่ ๑ เกี่ยวข้องกับที่พิพาทและให้ถอนคำคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินตามใบไต่สวนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ โต้แย้งว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินรถไฟซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ โต้แย้งว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ คัดค้านว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์และไม่อาจใช้อำนาจสอบสวนเปรียบเทียบและสั่งการได้เช่นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปซึ่งรวมทั้งคดีของจำเลยที่ ๒ อันเป็นประเด็นข้อพิพาทเนื่องมาจากการที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินแล้วจำเลยที่ ๑ ยื่นคำคัดค้าน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๙/๒๕๕๖

วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดบุรีรัมย์
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นางผ่องศรี คะเลรัมย์ โจทก์ ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๑๑๐/๒๕๕๔ หมายเลขแดงที่ ๕๙๐/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่ตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๒๐๙ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่รวม ๑๗๐ ไร่ซึ่งเดิมนายทอ เย็นวัฒนา เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ตั้งแต่ปี ๒๔๗๑ และแจ้งการครอบครองไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ และได้มีการโอนต่อกันมา ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินส่วนของโจทก์และนำเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ทำการรังวัดพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินโดยมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงร่วมระวังแนวเขตและไม่มีผู้คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๒ ออกใบไต่สวนให้แก่โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน แต่ในระหว่างที่จำเลยที่ ๒ ดำเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ โดยไม่สุจริตยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตพื้นที่ของจำเลยที่ ๑ และทั้งที่จำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบและออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบไต่สวน ห้ามจำเลยที่ ๑ เกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวและให้ถอนคำคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยที่ ๒ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามใบไต่สวนให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ และเป็นที่ดินหวงห้ามไว้ใช้ในราชการ ที่ดินแปลงพิพาทจึงเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา ๓ (๒) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทภายหลังพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับ จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของและผู้มีสิทธิครอบครองโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การกระทำของโจทก์เป็นละเมิดต่อจำเลยที่ ๑ ขอให้บังคับโจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท กับให้ชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดิน แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาโดยเฉพาะ คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงไม่อาจบังคับได้ โจทก์มิได้ครอบครองหรือซื้อที่ดินมาโดยชอบ จึงมิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทและไม่มีสิทธินำที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดิน อีกทั้งมีผู้คัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่อาจใช้อำนาจสอบสวนเปรียบเทียบและสั่งการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ ซึ่งใช้ในกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนได้ จำเลยที่ ๒ มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ได้ทำละเมิดต่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ดินของโจทก์อยู่นอกเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ และมิใช่ที่ดินรถไฟ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีในส่วนของจำเลยที่ ๒ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานของรัฐแต่ประเด็นพิพาทเป็นเรื่องสิทธิของบุคคลเกี่ยวกับที่ดิน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ดินพิพาทที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินนั้น เป็นที่ดินที่จำเลยที่ ๒ สามารถจะออกโฉนดที่ดินให้ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ส่วนการที่จำเลยที่ ๒ จะทำการสอบสวนเปรียบเทียบในกรณีที่มีผู้โต้แย้งสิทธิในการออกโฉนดที่ดินหรือไม่ เป็นเรื่องสืบเนื่องจากโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินแล้วจำเลยที่ ๑ คัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๒ ใช้ดุลพินิจตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ วรรคหนึ่ง ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่ดินในการที่จะทำการสอบสวนเปรียบเทียบหรือไม่ก็ได้ จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาเรื่องอำนาจศาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั่วไป เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ในขณะที่ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงคดีพิพาทตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่เรื่องที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองดังที่กล่าวมา ดังนั้น หากคดีใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีนั้น และศาลยุติธรรมก็ย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น
คดีนี้การออกโฉนดที่ดินเป็นการออกตามโครงการเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นการเดินสำรวจรังวัดทำแผนที่ตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ จะต้องตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และเงื่อนไขตามที่บัญญัติในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งในกรณีที่มีการคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน บทบัญญัติในมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ มีอำนาจทำการสอบสวนเปรียบเทียบ ถ้าตกลงกันได้ก็ให้ดำเนินการไปตามที่ตกลงกัน หากตกลงกันไม่ได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจพิจารณาสั่งการไปตามที่เห็นสมควร การที่จำเลยที่ ๑ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตพื้นที่ของจำเลยที่ ๑ เป็นที่ดินของรัฐ เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ประกอบพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินรถไฟเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการรถไฟ และการที่โจทก์กล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่ทำการสอบสวนเปรียบเทียบและพิจารณาสั่งคำขอออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับข้อ ๑๔ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๓) และวรรคสอง จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ ๑ คัดค้านคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองและปกปักรักษาที่ดินรถไฟ และสงวนที่ดินดังกล่าวไว้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการรถไฟ ข้อพิพาทในคดีจึงเป็นเรื่องที่ศาลต้องพิสูจน์ถึงสถานะของที่ดินพิพาทโดยอาศัยพยานหลักฐานและเอกสารของทางราชการว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรถไฟตามกฎหมายว่าด้วยการจัดวางการรถไฟแลทางหลวงสำหรับใช้ในกิจการรถไฟหรือไม่ มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างเอกชนกับเอกชนแต่อย่างใด ในส่วนของการพิสูจน์สถานะของที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินรถไฟหรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินของจำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และโดยที่ตามมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ บัญญัติให้พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ และบรรดากฎข้อบังคับที่ได้ออกตามพระราชบัญญัตินั้นให้คงใช้บังคับต่อไป เท่าที่มิได้มีความขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ การพิจารณาเรื่องการได้มาซึ่งที่ดินและการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินของจำเลยที่ ๑ จึงต้องนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ มาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งตามมาตรา ๓ (๒) บัญญัติว่า ที่ดินรถไฟหมายความว่า ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาฤาเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย ส่วนบทบัญญัติเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างรถไฟแผ่นดินนั้น กฎหมายกำหนดไว้ในส่วนที่ ๒ ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดิน ตามมาตรา ๑๘ ถึงมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ตั้งแต่การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเพื่อสร้างทางรถไฟ เพื่อกำหนดแนวสำรวจเส้นทางเพื่อสร้างทางรถไฟ การตราพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟ ภายหลังสำรวจเส้นทางแน่นอนและจำนวนที่ดินที่มีความจำเป็นต้องใช้ รวมทั้งการดำเนินการจัดซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นและการจ่ายเงินค่าทำขวัญเพื่อทดแทนความเสียหาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดหาที่ดินของจำเลยที่ ๑ มิได้เกิดจากการตกลงซื้อขายด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และเมื่อมีการจ่ายเงินค่าทดแทนกันแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวก็จะตกเป็นของจำเลยที่ ๑ อันส่งผลทำให้ที่ดินรถไฟมีสถานะตามกฎหมายที่แตกต่างจากที่ดินของเอกชน ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินใดๆ ของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะด้านคมนาคม ดังนั้น แม้การพิจารณาคดีนี้จะมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตรถไฟตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ หรือเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินการทางปกครอง ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการจัดวางการรถไฟแลทางหลวงหรือไม่ การพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทในประเด็นดังกล่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะและอาจมีผลกระทบถึงการบริหารราชการแผ่นดินจึงจำเป็นต้องใช้ระบบไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงที่แท้จริงจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งศาลปกครอง คดีนี้จึงสมควรได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลปกครอง สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการครอบครองและสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปนั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี และแม้การพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในประเด็นดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรและการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองกล่าวอ้างและโต้แย้งกันสรุปได้ว่า โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่ตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินส่วนของโจทก์และนำเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ทำการรังวัดพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ ๒ ได้ออกใบไต่สวนให้แก่โจทก์ไว้ แต่ในระหว่างที่จำเลยที่ ๒ ดำเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินรถไฟอยู่ในเขตพื้นที่ของจำเลยที่ ๑ และทั้งที่จำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบและออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ จึงขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบไต่สวน ห้ามจำเลยที่ ๑ เกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวและให้ถอนคำคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินตามใบไต่สวนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ โต้แย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรถไฟซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ โต้แย้งว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ คัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์และไม่อาจใช้อำนาจสอบสวนเปรียบเทียบและสั่งการได้เช่นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิในที่ดินและการขอออกโฉนดที่ดินตามสิทธิของตนเป็นสำคัญ โดยเมื่อจำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ขอให้บังคับโจทก์ออกจากที่ดินพิพาทและชดใช้ค่าเสียหาย และจำเลยที่ ๒ ให้การว่า เหตุที่ไม่สอบสวนเปรียบเทียบและออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ ๑ ผู้คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป ซึ่งรวมทั้งคดีของจำเลยที่ ๒ อันเป็นประเด็นข้อพิพาทเนื่องมาจากการที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินแล้วจำเลยที่ ๑ ยื่นคำคัดค้านนั่นเอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางผ่องศรี คะเลรัมย์ โจทก์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share