คำวินิจฉัยที่ 37/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ ๑ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส สาขาสุไหงโก-ลก ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่ง เรื่อง คำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบการโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ และให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ดังนี้ เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส สาขาสุไหงโก-ลก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นข้าราชการ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาเหตุแห่งการฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่ง เรื่อง คำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบการโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงตามคำขอของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าอยู่ในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ สอบสวนเปรียบเทียบแล้วเชื่อว่า ที่ดินแปลงนี้น่าจะเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงมีคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีและให้ไปใช้สิทธิทางศาล ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องเป็นคดีนี้ โดยมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง เรื่อง คำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบการโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ และให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยมิได้แจ้งการครอบครอง ตามมาตรา ๕๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อทำการรังวัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำคัดค้านการรังวัดอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สอบสวนเปรียบเทียบและพิจารณาสั่งการไปตามที่เห็นสมควร โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี แม้จะเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อการวินิจฉัยสั่งการตามบทบัญญัตินี้ เป็นกรณีการโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอออกโฉนดที่ดิน โดยวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติให้ฝ่ายที่ไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และมีคำขอประการสำคัญ คือให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นกรณีที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาคุ้มครองและรับรองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share