แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 บัญญัติว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาหรือมีคำสั่งในคดีดังต่อไปนี้ (5) คดีอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว เมื่อตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3 บัญญัติว่า ศาล หมายถึง ศาลเยาวชนและครอบครัว ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว จึงอยู่ในพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามบทบัญญัติดังกล่าว ในกรณีเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีกฎหมายอื่นรวมอยู่ด้วยมีมาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่การกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดกรรมเดียวกับกฎหมายอื่น ให้ดำเนินคดีความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวต่อศาลรวมไปกับความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น เว้นแต่ความผิดตามกฎหมายอื่นนั้นมีอัตราโทษสูงกว่า ให้ดำเนินคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น เมื่อคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มาตรา 4 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งมีอัตราโทษต่ำกว่า คือโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นกรณีที่ต้องดำเนินคดีในความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ไปพร้อมกับความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเฉพาะความผิดกรรมนี้มาโดยลำพัง โดยโจทก์ฟ้องจำเลยคนเดียวกันว่ากระทำความผิดอีกกรรมหนึ่ง คือความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามคำฟ้องข้อ ก. ซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดนครพนมด้วย จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันโดยความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกันซึ่งโจทก์จะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในความผิดซึ่งมีโทษสูงกว่าก็ได้ ตามบทบัญญัติมาตรา 24 (1) วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.อ. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามคำฟ้องข้อ ข. รวมไปกับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำฟ้องข้อ ก. ต่อศาลจังหวัดนครพนมได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องด้วยวาจาว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันคือ ก. ระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 เวลากลางวันถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 เวลากลางวัน จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2 เม็ด หรือหน่วยการใช้น้ำหนักเท่าใดไม่ปรากฏชัด โดยวิธีการนำเมทแอมเฟตามีนวางบนกระดาษฟอยล์ใช้ไฟลนสูดดมควัน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ข. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยทำร้ายร่างกายนางพันธ์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาและบุคคลในครอบครัวของจำเลย โดยใช้มือตีและเท้าเตะบริเวณลำตัวของผู้เสียหายไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหาย
เหตุตามฟ้องข้อ ก และ ข เกิดที่ตำบลบ้านเอื้อง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3, 4 และนับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 423/2559 ของศาลนี้
ศาลจังหวัดนครพนมรับคำฟ้องเฉพาะข้อ ก. ส่วนข้อ ข. ศาลจังหวัดนครพนมเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่า คำฟ้องข้อ ข. อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 บัญญัติว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาหรือมีคำสั่งในคดีดังต่อไปนี้ (5) คดีอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเยาวชนและครอบครัว เมื่อตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3 บัญญัติว่า ศาล หมายถึง ศาลเยาวชนและครอบครัว ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามบทบัญญัติดังกล่าว ในกรณีเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีกฎหมายอื่นรวมอยู่ด้วย มีมาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่การกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดกรรมเดียวกับกฎหมายอื่น ให้ดำเนินคดีความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวต่อศาลรวมไปกับความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น เว้นแต่ความผิดตามกฎหมายอื่นนั้นมีอัตราโทษสูงกว่า ให้ดำเนินคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น เมื่อความผิดตามคำฟ้องข้อ ข. ในคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มาตรา 4 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ซึ่งมีอัตราโทษต่ำกว่า คือโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นกรณีที่ต้องดำเนินคดีในความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ไปพร้อมกับความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเฉพาะความผิดตามคำฟ้องข้อ ข. นี้มาโดยลำพัง โดยโจทก์ฟ้องจำเลยคนเดียวกันว่ากระทำความผิดอีกกรรมหนึ่ง คือความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามคำฟ้องข้อ ก. ซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดนครพนมด้วย จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันโดยความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกัน ซึ่งโจทก์จะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 24 (1) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามคำฟ้องข้อ ข. รวมไปกับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำฟ้องข้อ ก. ต่อศาลจังหวัดนครพนมได้
วินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ข้อ ข. ในคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 19 เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช 2559
วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา