แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๗/๒๕๕๓
วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดศรีสะเกษ
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดศรีสะเกษส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๒ นางมด บุญชู โจทก์ ยื่นฟ้อง สำนักงานที่ดินอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ ๑ นางสาวพุมเรียง แพงมา ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๒/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๑๗-๐ -๔๓ ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๔ ตำบลตะเคียน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยโจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อเนื่องมาจากบิดามารดารวมเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐๐ ปี ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และได้ติดต่อยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ ถือว่าโจทก์ประสงค์ที่ดินดังกล่าว ตามมาตรา ๒๗ ตรี ของประมวลกฎหมายที่ดิน อีกทั้งโจทก์ก็ได้ครอบครองที่ดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ การครอบครองที่ดินดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ประกาศให้โจทก์เข้าร่วมรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แปลงป่ากะดึโดยการรังวัดขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ผลปรากฏว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ดังกล่าวได้ออกโดยทับแปลงที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงคัดค้าน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๒ แจ้งให้โจทก์ไปใช้สิทธิทางศาลภายใน ๖๐ วัน หากไม่ดำเนินการ จำเลยทั้งสองจะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ต่อไปการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งการรังวัดที่ดินเพื่อขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับที่ดินของโจทก์ และให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินให้กับโจทก์ ให้โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ป่ากะดึหรือป่ากะดี ทางราชการสงวนไว้เป็นที่เลี้ยงสัตว์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ในการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) โจทก์มิได้คัดค้านการรังวัด และในการรังวัดเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้รังวัดที่ดินตามหลักวิชาการ โดยการนำชี้ของนายอำเภอขุขันธ์ โดยชอบแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งรังวัดทับที่ดินพิพาท ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดศรีสะเกษพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ ๑๗-๐-๔๓ ไร่ ตั้งอยู่หมู่ ๔ ตำบลตะเคียน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจากบิดามารดารวมเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐๐ ปี จำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้รังวัดที่ดินของโจทก์เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ป่ากะดึหรือป่ากะดี ซึ่งโจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งในการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ซึ่งแม้คำขอของโจทก์จะเข้าลักษณะตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนหรือไม่เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสอง ศาลจะต้องพิจารณาก่อนว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เป็นการรับรองเขตที่ดินของรัฐซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน และต้องดำเนินการตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. ๒๕๑๗ การดำเนินการของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดกรมที่ดิน เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แปลงป่ากะดึหรือป่ากะดีสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งให้โจทก์เข้าร่วมในการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แปลงป่ากะดึหรือป่ากระดีสาธารณประโยชน์ โดยจะออกหนังสือประกาศทับที่ดินที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ซึ่งครอบครองที่ดินโดยไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินและได้คัดค้านการรังวัดที่ดิน ต้องไปดำเนินการใช้สิทธิทางศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองจะดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับที่ดินของโจทก์ เป็นการดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย โจทก์จึงฟ้องคดีตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งในการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองออกหนังสือเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์ให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐระงับการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และถึงแม้คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ ชื่อป่ากะดึหรือป่ากะดี ซึ่งทางราชการได้สงวนไว้เป็นที่เลี้ยงสัตว์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การดำเนินการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แปลงดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานสังกัด กรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของจำเลยที่ ๑ มิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งมิใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ตามความเห็นของศาลจังหวัดศรีสะเกษก็แสดงให้เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีปกครอง แต่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ ทำให้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงเป็นกรณีที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษนำประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเขตอำนาจศาลซึ่งนอกเหนือไปจากเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาเขตอำนาจศาลตามบทบัญญัติมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน เนื้อที่ประมาณ ๑๗-๐-๔๓ ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๔ ตำบลตะเคียน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยโจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อเนื่องมาจากบิดามารดารวมเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐๐ ปี ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และได้ติดต่อยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ ถือว่าโจทก์ประสงค์ที่ดินดังกล่าว ตามมาตรา ๒๗ ตรี ของประมวลกฎหมายที่ดิน อีกทั้งโจทก์ก็ได้ครอบครองที่ดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ การครอบครองที่ดินดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ได้ประกาศให้โจทก์เข้าร่วมรังวัดที่ดิน เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แปลงป่ากะดึหรือป่ากะดี แต่ผลปรากฏว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ได้ออกโดยทับแปลงที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงคัดค้าน ต่อมาจำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ใช้สิทธิทางศาลภายใน ๖๐ วัน หากไม่ดำเนินการจำเลยทั้งสองก็จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ต่อไป การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งการรังวัดที่ดินเพื่อขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับที่ดินของโจทก์ และให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินให้กับโจทก์ ให้โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ส่วนจำเลยทั้งสองก็ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ป่ากะดึหรือป่ากะดี ทางราชการสงวนไว้เป็นที่เลี้ยงสัตว์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ในการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) โจทก์มิได้คัดค้านการรังวัด และในการรังวัดเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้รังวัดที่ดินตามหลักวิชาการ โดยการนำชี้ของนายอำเภอขุขันธ์โดยชอบแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางมด บุญชู โจทก์ สำนักงานที่ดินอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ ๑ นางสาวพุมเรียง แพงมา ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ ติดราชการ
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ