คำวินิจฉัยที่ 26/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกได้ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินแต่จำเลยทั้งสองมีหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่รังวัดรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสองรับรองแนวเขตที่ดินและออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๖/๒๕๕๘

วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลแขวงนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นางสาวรัชนีย์ เพ็ชรา โจทก์ ยื่นฟ้อง นายอำเภอพรหมคีรี ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเรียง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๓๗/๒๕๕๖ โดยศาลแขวงนครศรีธรรมราชรับโอนมาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๙/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางแดง เพ็ชรา ตามคำสั่งศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช คดีหมายเลขแดงที่ ๓๗๔/๒๕๕๓ โดยนางแดงมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ (๑๙๗) ๓๓๒ ตำบลนาเรียง (พรหมโลก) อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ประมาณ ๖ – ๒ – ๖๐ ไร่ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ โจทก์ได้ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช สาขาลานสกา จำเลยทั้งสองมอบให้ผู้แทนไประวังแนวเขตแล้วแต่ไม่ได้ลงนามรับรองแนวเขต โดยอ้างว่าโจทก์นำรังวัดที่ดินรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์และคลองปลายอวน และจำเลยทั้งสองมีหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์เฉพาะส่วนที่นำรังวัดรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์และคลองปลายอวน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดิน ทั้งที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้และที่ดินของโจทก์ไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งสองคัดค้านว่าเป็นทางสาธารณะคลองปลายอวนเป็นที่ดินของโจทก์ และโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสองรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์และให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์และคลองปลายอวนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การไม่ลงนามรับรองแนวเขตและการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) และเลขที่ (๑๙๗) ๓๓๒ ตำบลนาเรียง (พรหมโลก) อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่พิพาทตามฟ้องซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางแดง เพ็ชรา โจทก์ยื่นดำเนินการรังวัด จำเลยทั้งสองไม่รับรองแนวเขตโดยอ้างว่าโจทก์นำรังวัดรุกล้ำทางสาธารณะและคลองปลายอวน ขอให้พิพากษาว่าที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งสองคัดค้านว่าเป็นทางสาธารณะคลองปลายอวน ตามแผนที่ท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข ๙ เป็นของโจทก์และโจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบ ให้จำเลยทั้งสองรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่จดทางสาธารณะ ข้อพิพาทที่จะต้องพิจารณาจึงมีว่าที่ดินในส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ หรือเป็นที่สาธารณะคลองปลายอวนตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งหรือไม่เสียก่อน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเรือนใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ และคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑๒/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๓ เรื่องมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยทั้งสองไม่รับรองแนวเขตที่ดินตามที่โจทก์ได้นำรังวัด ตลอดจนมีหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยทั้งสอง และเมื่อโจทก์ไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้จะมีประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินซึ่งต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่การพิจารณามิใช่เกณฑ์ว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ศาลปกครองนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ นอกจากนั้นตามมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน โดยศาลปกครองอาจนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและครอบครองทรัพย์มรดกคือที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ (๑๙๗) ๓๓๒ ตำบลนาเรียง (พรหมโลก) อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งโจทก์ได้ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินแต่จำเลยทั้งสองมีหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่นำรังวัดรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์และคลองปลายอวน อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ขอให้จำเลยทั้งสองรับรองแนวเขตที่ดินและออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์และคลองปลายอวนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การไม่ลงนามรับรองแนวเขตและการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวรัชนีย์ เพ็ชรา โจทก์ นายอำเภอพรหมคีรี ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเรียง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share