คำวินิจฉัยที่ 2/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๕๓

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดน่าน

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๐ ร้อยตำรวจโท ปรีชา โตคำนุช ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๗๑/๒๕๕๐ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๖๕๖ ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ที่ดินดังกล่าวบิดาของผู้ฟ้องคดีซื้อมาจากนายศรีนวล คำปลิว เมื่อปี ๒๕๑๑ จดทะเบียนซื้อขายที่สำนักงานที่ดินอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกติดกับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์น่าน ปี ๒๕๑๖ โรงเรียนดังกล่าวก่อสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินบางส่วน บิดาของผู้ฟ้องคดีโต้แย้ง แต่ต่อมามีการเจรจาจนบิดาของผู้ฟ้องคดียินยอมให้อาคารส่วนที่เป็นมุขและชายคารุกล้ำที่ดินได้ ต่อมาเมื่อบิดาผู้ฟ้องคดีถึงแก่กรรม ผู้ฟ้องคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก แล้วไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคาร และขอออกโฉนดในปี ๒๕๓๓ ผู้อำนวยการโรงเรียนคัดค้านการรังวัดชี้แนวเขต โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวขึ้นทะเบียน เป็นที่ราชพัสดุ ผู้ฟ้องคดียื่นขอความเป็นธรรมต่อกรมธนารักษ์ ได้รับแจ้งว่าที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ใดได้ แต่เพื่อความเป็นธรรมแก่ ผู้ฟ้องคดี กรมธนารักษ์ขอให้กรมสามัญศึกษาพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามสมควร ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๘ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาน่าน เขต ๑ ได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีว่า คณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมของค่าชดเชยที่ดินมีมติจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน ๘๓๑,๕๕๐ บาท ผู้ฟ้องคดีตกลงรับค่าชดเชยจำนวนดังกล่าว แต่กรมบัญชีกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นของโรงเรียน โดยบิดาของผู้ฟ้องคดีบริจาคที่ดินให้แก่โรงเรียนหรือเป็นที่ดินมรดก เพื่อพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินและเพื่อความเป็นธรรมให้นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไป เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยเป็นประการใดแล้วให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลนั้น และระงับการจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องคดีไว้ก่อน ทำให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนและได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่า คำสั่งทางปกครองของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ ศธ ๐๔๐๐๗.๐๕/๓๓๑๒ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบให้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องคดี จำนวน ๘๓๑,๕๕๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินของโรงเรียน เดิมเป็นที่ดินของศูนย์แพร่พันธุ์สัตว์ ร.พ.ช. น่าน และรับบริจาคจากราษฎร รวมเป็นเนื้อที่ ๑๔๗ ไร่ ๓ งาน ๑๗.๒ ตารางวา และได้ขึ้นทะเบียนเป็น ที่ราชพัสดุ เลขที่ นน. ๗๖ เมื่อปี ๒๕๒๔ โดยทางโรงเรียนเข้าครอบครองด้วยความสงบ เปิดเผย อย่างเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดทักท้วง บิดาของผู้ฟ้องคดีมิได้โต้แย้ง แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานการยกให้ก็ตาม แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นการยกให้โดยปริยาย และไม่ปรากฏว่าผู้ถือสิทธิครอบครองได้ เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว กลับปรากฏว่าทางโรงเรียนได้เข้าทำประโยชน์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ โดยปลูกสร้างอาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เต็มพื้นที่ โดยไม่มีการโต้แย้งคัดค้าน หรือฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทโดยทางมรดกย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองแทนการนำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีเกรงว่าจะตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบเพราะคดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๕๖ ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โรงเรียนรุกล้ำครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานหลายแห่ง กรมธนารักษ์ตรวจสอบแล้วได้ความว่าที่ดินดังกล่าวผู้ฟ้องคดีได้สิทธิครอบครองมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ ก่อนที่โรงเรียนจะเข้าใช้ประโยชน์เมื่อปี ๒๕๑๖ และก่อสร้างอาคารโดยผู้ฟ้องคดีมิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงถือว่าทางราชการได้สิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ แต่เพื่อความเป็นธรรมให้กรมสามัญศึกษาพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ฟ้องคดี ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาน่าน เขต ๑ แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาค่าชดเชยที่เหมาะสมแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณา คณะกรรมการดังกล่าวมีมติให้ชดเชยราคาที่ดินเป็นเงิน ๘๓๑,๕๕๐ บาท ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาน่านเขต ๑ แจ้งมติของคณะกรรมการให้ผู้ฟ้องคดีทราบและสอบถามความยินยอมรับเงินค่าชดเชยจำนวนดังกล่าวซึ่งผู้ฟ้องคดีก็มีหนังสือยินยอม แต่ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหนังสือแจ้งปฏิเสธการจ่ายเงินค่าชดเชยโดยให้ผู้ฟ้องคดีนำกรณีพิพาทเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล ผู้ฟ้องคดีจึง นำคดีมาฟ้องศาลปกครองขอให้พิพากษาว่า คำสั่งของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ ศธ.๐๔๐๐๗.๐๕/๓๓๑๒ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ ไม่ชอบและขอให้จ่ายเงินค่าชดเชยจำนวน ๘๓๑,๕๕๐ บาท แก่ผู้ฟ้องคดี ประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องจึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชดเชยค่าที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นการโต้แย้งว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเพราะประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๖๕๖ ผู้ฟ้องคดีถือสิทธิครอบครองแต่ถูกโรงเรียนรุกล้ำจนได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ คำฟ้องนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดน่านพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๖๕๖ โดยการรับมรดกมาจากบิดาของผู้ฟ้องคดี และต่อมาโรงเรียนได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขอขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ โดยให้โรงเรียนเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ต่อมาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาน่าน เขต ๑ ได้พิจารณาความเหมาะสมของค่าชดเชยที่ดิน มีมติเห็นสมควรจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน ๘๓๑,๕๕๐ บาท แล้วได้ขอหารือไปยังกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับการพิจารณาจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าว ซึ่งกรมบัญชีกลางมีความเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นของโรงเรียนโดยวิธีใด จึงจะพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาน่าน เขต ๑ มีหนังสือไปหารือ ดังนั้น ประเด็นหลักแห่งคดีจึงเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ราชพัสดุหรือเป็นของผู้ฟ้องคดี ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความข้อนี้ เสียก่อนว่าที่ดินที่พิพาทนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ จากนั้นจึงจะพิจารณาเกี่ยวกับค่าชดเชยของผู้ฟ้องคดีได้ จึงเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ มาตรา ๑๓๐๔ (๑) มาตรา ๑๓๗๗ และมาตรา ๑๓๗๘ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๖๕๖ ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของบิดา เมื่อผู้ฟ้องคดีขอออกโฉนด ผู้อำนวยการโรงเรียนคัดค้านการรังวัดชี้แนวเขตอ้างว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้ขอความเป็นธรรมจากหลายหน่วยงาน จนกระทั่งคณะกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีมีมติจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดียอมรับจำนวนเงินค่าชดเชย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งระงับการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง เพราะข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นของโรงเรียน โดยบิดาของผู้ฟ้องคดีบริจาค หรือเป็นที่ดินมรดกของบิดาผู้ฟ้องคดี ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ให้ระงับการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ และให้จ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินให้แก่ ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น แม้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีจะขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ระงับการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ อันเป็นคำสั่งของฝ่ายปกครองก็ตาม แต่คำขอดังกล่าวก็เป็นไปเพื่อมุ่งประสงค์ที่จะให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินให้ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีให้การต่อสู้ว่า ที่ดินดังกล่าวบิดาของผู้ฟ้องคดียกให้โดยปริยาย ทั้งโรงเรียนเข้าครอบครองทำประโยชน์เต็มพื้นที่ โดยบิดาของผู้ฟ้องคดีไม่ฟ้องเรียกคืนภายใน ๑ ปี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้สิทธิครอบครอง อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินค่าชดเชยที่ดินตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นมรดกของบิดาผู้ฟ้องคดี หรือเป็นของโรงเรียนโดยบิดาของผู้ฟ้องคดียกให้เป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างร้อยตำรวจโท ปรีชา โตคำนุช ผู้ฟ้องคดี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share