คำวินิจฉัยที่ 178/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกรรมการหมู่บ้านเป็นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กรณีโจทก์ยื่นคำขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน แต่จำเลยทั้งสองคัดค้านการรังวัด โดยอ้างว่าที่ดินบางส่วนที่โจทก์ชี้แนวเขตเป็นที่สาธารณะ จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนคำคัดค้าน และให้สำนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ บัญญัติว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ แม้ว่าจำเลยที่ ๑ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ จึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ แต่การที่จำเลยที่ ๑ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ เป็นการกระทำในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณะซึ่งเป็นเพียงการใช้สิทธิของเจ้าของที่ดินข้างเคียงเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไปในการระวังแนวเขตที่ดินอันเนื่องมาจากมีการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ ตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดกันรังวัดสอบเขตที่ดินของตน รุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินสาธารณะ การคัดค้านการรังวัดที่ดินของจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งจะเข้าลักษณะคดีพิพาท ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อจำเลยที่ ๑ คัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์รังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่โจทก์ยืนยันว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share