แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงานจำเลยยื่นฟ้องจำเลยกรณีมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสี่ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุให้แก่โจทก์ทั้งสี่ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๔ วรรคสอง ขอให้บังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสี่ เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยเป็นสัมพันธ์ที่เป็นไปเพื่อให้โจทก์ทั้งสี่เข้าเป็นผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานจำเลยอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ และข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๖ (ที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ทั้งสี่เกษียณอายุ) มิใช่ความสัมพันธ์อันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๔ วรรคสอง ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยละเลยต่อหน้าที่ในการจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง