คำวินิจฉัยที่ 17/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๗/๒๕๕๓

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ นายกิตติ วิเศษศักดากร โจทก์ ยื่นฟ้อง นางอุดม รามนุช ที่ ๑ นางสมควร จันทรมี ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๒๗๒/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๕๒ ตารางวา เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๗ โจทก์นำที่ดินแปลงดังกล่าวจดทะเบียนจำนองเพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้แก่จำเลยที่ ๑ ในวงเงินจำนวน ๒๙๖,๐๐๐ บาท แต่เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และจดทะเบียนขายที่ดิน นส. ๓ ก. แปลงดังกล่าวในนามของโจทก์ให้แก่ตนเอง โดยที่โจทก์ไม่เคยมอบอำนาจหรือให้ความยินยอม การที่จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือมอบอำนาจปลอมและทำนิติกรรม แทนโจทก์เพื่อให้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ จึงเป็นการได้ที่ดินโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ ให้แก่จำเลยที่ ๒ และนายทองห่อ จันทรมี (เสียชีวิตแล้ว) ซึ่งต่อมาได้มีการนำไปออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๑๑๕ เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิตามกฎหมายในที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ จำเลยที่ ๒ และนายทองห่อจึงไม่ได้สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์มีหนังสือถึงสำนักงานที่ดินอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สังกัดจำเลยที่ ๓ ขอให้ส่งหนังสือมอบอำนาจตามที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินแทนโจทก์ แต่ได้รับแจ้งว่าไม่พบหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๓ ยินยอมให้ทำนิติกรรมไถ่ถอนจำนองและนิติกรรมการซื้อขายเกี่ยวกับที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์ หรือยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมทำนิติกรรมแทนโจทก์ ถือเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๓ ที่ไม่ตรวจสอบหลักฐานที่ใช้ในการทำนิติกรรมให้ถูกต้อง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวกับที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ หรือโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๑๑๕ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบการครอบครอง นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ หรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๑๑๕ คืนแก่โจทก์ หรือร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงินจำนวน ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์แจ้งความประสงค์จะโอนสิทธิครอบครองทรัพย์จำนอง เพื่อใช้หนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ ๑ จึงทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินและให้จดทะเบียนโอนที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ เป็นของจำเลยที่ ๑ โดยมีหนังสือมอบอำนาจถูกต้องครบถ้วน หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลา ๓ ปีเศษ ถือว่าจำเลยที่ ๑ ได้สิทธิในที่ดินโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ต่อมาจึงจดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และค่าเสียหายสูงเกินจริง โจทก์ขายที่ดินให้จำเลยที่ ๑ มาเป็นเวลานานถึง ๒๓ ปีแล้ว คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ จำเลยที่ ๒ และนายทองห่อ จันทรมี สามี ซื้อที่ดิน นส. ๓ ก เลขที่ ๖๕ จากจำเลยที่ ๑ และครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ต่อมาในปี ๒๕๓๗ ได้ยื่นขอออกโฉนดเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๑๑๕ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ต่อมาสามีจำเลยที่ ๒ ถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๒ จึงรับโอนที่ดินเฉพาะส่วนของสามีจำเลยที่ ๒ เป็นชื่อจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงได้ที่ดินมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริงเป็นการ กล่าวอ้างลอยๆ เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องชดใช้ราคาตามที่โจทก์ฟ้องเพราะนิติกรรมที่โจทก์ฟ้องไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๒ ราคาที่ดินสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า การจดทะเบียนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองและซื้อขายที่ดินของเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ ๓ ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบของจำเลยที่ ๓ แล้ว หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่จำเลยที่ ๑ กล่าวอ้างได้สูญหายไประหว่างขนย้ายสำนักงาน มิใช่กรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ ให้จำเลยที่ ๒ จึงชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ ๒ มีสิทธิตามกฎหมายที่จะนำ นส. ๓ ก. ดังกล่าวไปขอออกเป็นโฉนดที่ดินได้ คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง กระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน และเป็นเรื่องที่ศาลต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งจะต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๓ อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก็ตาม แต่มูลความแห่งคดีเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จึงชอบที่จะพิจารณาที่ศาลเดียวกัน คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และกระทำละเมิดแก่โจทก์จากการกระทำดังกล่าว ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ ได้รับมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินจากโจทก์หรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาแห่งคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของจำเลยที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาแต่เพียงประเด็นย่อยว่าการมอบอำนาจดังกล่าวชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่อาจจะวินิจฉัยได้ว่าการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของจำเลยที่ ๓ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีต้องพิจารณาประกอบกับประเด็นปัญหาอื่นอีกจึงจะสามารถวินิจฉัยถึงความชอบด้วยกฎหมายของการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวได้ ซึ่งก็เป็นประเด็นปัญหาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองด้วยเช่นกัน แม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในที่ดินพิพาทจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่การพิจารณากฎหมายดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดี รวมทั้งมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเพื่อเยียวยาความเสียหายตามคำขอของโจทก์ได้ โดยที่ศาลยุติธรรมหาได้มีอำนาจเช่นนั้นไม่ เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และกระทำละเมิดแก่โจทก์จากการกระทำดังกล่าว ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ นำที่ดินแปลงดังกล่าวจดทะเบียนจำนองเพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้แก่จำเลยที่ ๑ แต่ต่อมาจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และจดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวในนามของโจทก์ให้แก่ตนเอง โดยที่โจทก์ไม่เคยมอบอำนาจหรือให้ความยินยอม หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ ให้แก่จำเลยที่ ๒ และนายทองห่อ จันทรมี ซึ่งต่อมาได้มีการขอออกโฉนดเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๑๑๕ โจทก์มีหนังสือถึงสำนักงานที่ดินอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สังกัดจำเลยที่ ๓ ขอให้ส่งหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินแทนโจทก์ แต่ได้รับแจ้งว่าไม่พบหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือมอบอำนาจปลอมและทำนิติกรรมแทนโจทก์เพื่อให้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ จึงเป็นการได้ที่ดินโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ และนายทองห่อจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทขอออกเป็นโฉนดที่ดิน และการที่จำเลยที่ ๓ ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมไถ่ถอนจำนองและนิติกรรมการซื้อขายเกี่ยวกับที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์ หรือยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมทำนิติกรรมแทนโจทก์ ถือเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวกับที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ หรือโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๑๑๕ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบการครอบครอง นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ หรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๑๑๕ คืนแก่โจทก์ หรือร่วมกันชดใช้ราคาที่ดิน พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า การยื่นคำขอจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินและให้จดทะเบียนโอนที่ดิน นส. ๓ ก. เลขที่ ๖๕ เป็นของจำเลยที่ ๑ มีหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์โดยถูกต้องครบถ้วน จำเลยที่ ๑ ได้สิทธิในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จึงจดทะเบียนขายที่ดินให้จำเลยที่ ๒ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายสูงเกินจริง คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ได้ที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องชดใช้ราคาตามที่โจทก์ฟ้องเพราะนิติกรรมที่โจทก์ฟ้องไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๒ ราคาที่ดินสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ได้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงว่าหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพิพาทของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นหลัก หากได้ความว่า การมอบอำนาจถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทก็ย่อมจะชอบด้วยกฎหมายมีผลให้สิทธิในที่ดินพิพาทโอนไปเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับ แต่หากการมอบอำนาจไม่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทก็ย่อมจะไม่ชอบด้วยกฎหมายมีผลให้สิทธิในที่ดินยังเป็นของโจทก์อยู่ ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากนิติสัมพันธ์กันในทางแพ่งระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายกิตติ วิเศษศักดากร โจทก์ นางอุดม รามนุช ที่ ๑ นางสมควร จันทรมี ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share