คำวินิจฉัยที่ 169/2560

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ กำหนดให้ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๑๘ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร และประกาศ คสช.ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ก็กำหนดให้คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันอยู่ในอำนาจของศาลทหารด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำผิดในข้อหาปลอมบัตรข้าราชการทหารเกิดขึ้นก่อนประกาศทั้งสองฉบับใช้บังคับ และจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ร่วมกันนำบัตรข้าราชการทหารปลอมไปใช้ก่อนประกาศทั้งสองฉบับใช้บังคับด้วยเช่นกัน แม้การปลอมและการใช้บัตรรายการที่ ๖ ตามคำฟ้องข้อ ๑ ง. และข้อ ๒ จะมีลักษณะเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ด้วย แต่เมื่อการกระทำทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนการใช้บังคับประกาศทั้งสองฉบับ คำฟ้องข้อ ๑ ง. และข้อ ๒ จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ส่วนการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันนำบัตรข้าราชการทหารปลอมรายการที่ ๖ ไปใช้เป็นครั้งที่ ๒ ตามคำฟ้องข้อ ๓ ภายหลังจากประกาศทั้งสองฉบับใช้บังคับ แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำปลอมขึ้นก่อนประกาศทั้งสองฉบับใช้บังคับ ซึ่ง ป.อ. มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง บัญญัติให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ เพียงกระทงเดียว ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ปลอมและใช้เอกสารปลอมรายการที่ ๖ นี้มาในฟ้องเดียวกันและข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ทั้งได้วินิจฉัยแล้วว่า ข้อหาร่วมกันปลอมบัตรข้าราชการทหารรายการที่ ๖ ตามคำฟ้องข้อ ๑ ง. อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ข้อหาร่วมกันใช้บัตรข้าราชการทหารปลอมรายการที่ ๖ ตามคำฟ้องข้อ ๓ นี้ จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน ไม่อาจแยกฟ้องเฉพาะข้อหาใช้บัตรข้าราชการทหารปลอมต่อศาลทหาร ในขณะที่ข้อหาปลอมบัตรข้าราชการทหารและคำฟ้องข้อหาอื่น ๆ ตามฟ้องข้อ ๑ ก. ข. ค. ง. และข้อ ๒ อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม จะก่อให้เกิดความลักลั่นและไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายได้
สำหรับคำฟ้องข้อ ๔ และข้อที่ ๕ โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ซึ่งไม่ใช่ฐานความผิดตามที่กำหนดไว้ในประกาศ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ แม้การกระทำตามฟ้องข้อ ๕ ในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม จะกระทำภายหลังวันที่ประกาศฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
แม้คดีนี้ทั้งสองศาลมีความเห็นพ้องกันว่า การกระทำตามคำฟ้องข้อ ๓ และข้อ ๕ อยู่ในอำนาจของศาลทหาร คณะกรรมการก็เห็นควรวินิจฉัยชี้ขาดให้คำฟ้องข้อ ๓ และข้อ ๕ อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมเช่นเดียวกับคำฟ้องข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๔ และข้อ ๖ ถึงข้อ ๑๑ ตามเหตุผลที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นด้วย อันเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ ซึ่งบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการในการวินิจฉัยเรื่องปัญหาเขตอำนาจศาลใน “คดี” ย่อมมิใช่เป็นเพียงอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยเฉพาะข้อหาย่อยในคดีเท่านั้น หากแต่มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องที่มีข้อหาเกี่ยวพันกัน หรือที่มีมูลคดีเดียวกันได้ทั้งคดี ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมและการพิจารณาพิพากษาคดี

Share