คำวินิจฉัยที่ 164/2560

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยโจทก์กล่าวอ้างว่าสำนักงานทางหลวงที่ ๑๘ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลย มีหน้าที่ตรวจตรา ดูแล บำรุง รักษาต้นไม้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ตัดแต่งต้นไม้ เพื่อมิให้โค่นล้มอันอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่รถยนต์ที่แล่นผ่านไปมาบนถนนได้ แต่กลับประมาทปราศจากความระมัดระวังอันบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ซึ่งอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้ต้นไม้โค่นล้มทับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมแซมและค่ายกลากรถยนต์บรรทุกดังกล่าวจึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิด ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นหน่วยงานทางปกครองซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการเกี่ยวกับทางหลวงตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหลายประการ แต่โจทก์ฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการละเลยไม่ดูแลรักษาต้นไม้ที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเพียงพอ เป็นเหตุให้ต้นไม้ที่อยู่ข้างถนนล้มลงมาทับรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะจำเลยกระทำละเมิด ละเลยต่อหน้าที่ทั่วไปตามกฎหมายในการดูแลรักษาทางหลวงให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย มิใช่กรณีละเลยต่อหน้าที่อันเป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้จำเลยปฏิบัติ ทั้งจำเลยโต้แย้งว่าเหตุมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย แต่เป็นเพราะก่อนและขณะเกิดเหตุมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุและได้ชำระค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยจึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีละเมิดซึ่งเป็นฐานแห่งการรับช่วงสิทธิของโจทก์ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share