แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนผู้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ยื่นฟ้อง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ ตำบลชุมแสง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ ๑ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ ๒ นายอำเภอนางรอง ที่ ๓ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสง ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอออก ส.ป.ก.(๔-๐๑) แต่ไม่อาจดำเนินการได้ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการรังวัดและไม่รับรองแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับรองแนวเขตที่ดิน และให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทอยู่ในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่รับรองแนวเขตจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านและไม่ลงชื่อรับรองในบันทึกการนำทำการรังวัด (ส.ป.ก./สร ๑ ข.) เพื่อขอออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีอ้างการครอบครอง โดยเห็นว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่ใช่ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่จะสามารถนำไปขอออก ส.ป.ก. (๔-๐๑) ได้ ซึ่งการคัดค้านและไม่รับรองแนวเขตการรังวัดที่ดินดังกล่าว เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไป ในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณะเพื่อมิให้บุคคลใดมาอ้างสิทธิในที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่มิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้าลักษณะคดีพิพาท ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านและไม่ลงชื่อรับรองในบันทึกการนำทำการรังวัด (ส.ป.ก./สร ๑ ข.) โดยอ้างว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีขอรังวัดและตรวจสอบแนวเขตที่ดินเพื่อขอออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔ – ๐๑) นั้น เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่ผู้ฟ้องคดียืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ตนมีสิทธิครอบครองและขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงเป็นการขอให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตน อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม สำหรับข้อพิพาทในส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้สำนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔ – ๐๑) นั้น ก็เป็นผลของการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน