แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง อ้างว่า เจ้าพนักงานที่ดินของกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๔๗๖ เลขที่ ๒๔๔๘๑ ให้แก่นาง ณ. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และนาย ศ. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และออกโฉนดที่ดินแปลงอื่น ๆ โดยรอบบริเวณ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกทับที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๙ ที่ผู้ฟ้องคดีเคยครอบครองและขายให้แก่บริษัท อ. เป็นเหตุให้บริษัท อ. ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินตามฟ้อง และให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๙ ของผู้ฟ้องคดีให้มีเนื้อที่ตามสารบัญเดิมทุกประการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๔๗๖ เลขที่ ๒๔๔๘๑ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ รวมถึงการออกโฉนดที่ดินแปลงอื่น ๆ ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทั้งศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำพิพากษาว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๔๗๖ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ได้ออกทับที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๙ ของผู้ฟ้องคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เห็นว่า แม้กรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นกรม มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดี คือ การที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอให้อธิบดีกรมที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนโฉนดที่ดิน เลขที่ ๒๔๔๗๖ เลขที่ ๒๔๔๘๑ ของนาง ณ. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และนาย ศ. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และโฉนดที่ดินแปลงอื่นโดยรอบ อันเนื่องมาจากเป็นการออกทับที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๙ ของผู้ฟ้องคดีที่ขายให้แก่บริษัท อ. แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิเสธ โดยอ้างว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่ได้ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามน.ส. ๓ เลขที่ ๙ หรือไม่ เมื่อคดีนี้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ใช้อำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทออกให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดียืนยันว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เป็นสำคัญ ซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินได้แก่ศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม