แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๕๕
วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนนทบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ นางพนิดา ปานใย โจทก์ ยื่นฟ้องเทศบาลเมืองบางกรวย จำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส. ๒๐๙๕/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗๖๔ ตำบลบ้านลุ่ม อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และโจทก์ทำประโยชน์โดยเก็บค่าเช่าจากบุคคลที่นำสินค้าไปจัดจำหน่ายในที่ดินของโจทก์ ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมอบหมายให้พนักงานของจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจเทศกิจประกาศคำสั่งของจำเลยห้ามไม่ให้บุคคลใดนำสินค้าไปจัดจำหน่ายในที่ดินของโจทก์ โดยจำเลยอ้างว่าที่ดินของโจทก์ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริงและโจทก์ได้โต้แย้งไว้ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาดรายได้ค่าเช่าจากบุคคลที่นำสินค้าไปจัดจำหน่ายในที่ดินของโจทก์ เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ขอให้จำเลยยกเลิกคำสั่งห้ามบุคคลเข้ามาจัดจำหน่ายสินค้าในที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยว ออกคำสั่งใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะหยุดกระทำการละเมิด
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๕๗๖๔ เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณประโยชน์ ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี โดยโจทก์หรือบริวารไม่ได้ห้ามปราม เมื่อจำเลยจะทำการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กในที่ดินพิพาท โจทก์ก็ไม่คัดค้าน ทั้งได้ทำหนังสือยินยอมให้ก่อสร้าง ถือได้ว่าโจทก์ได้ยกที่ดินที่ถนนสาธารณะตัดผ่านให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องขอให้จำเลยยกเลิกคำสั่งอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ห้ามบุคคลเข้าไปจัดจำหน่ายสินค้าในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดหรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ดังนั้น เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทที่เกิดเหตุแล้ว จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนภายในท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ หลายประการรวมถึงอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะตามมาตรา ๑๖ (๒๗) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และการควบคุมดูแลการดำเนินกิจการในที่สาธารณะตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๐๒ อีกด้วย เมื่อมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยได้ประกาศคำสั่งห้ามบุคคลใดนำสินค้าไปจัดจำหน่ายในที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำการตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่กฎหมายบัญญัติ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๗๖๔ ตำบลบ้านลุ่ม อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และได้หาประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว โดยเก็บค่าเช่าจากบุคคลที่นำสินค้ามาจัดจำหน่ายในที่ดินของโจทก์ การที่จำเลยได้มอบหมายให้พนักงานของจำเลยและตำรวจเทศกิจเข้ามาประกาศคำสั่งของจำเลยโดยห้ามมิให้บุคคลนำสินค้าเข้ามาจัดจำหน่ายในที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวได้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว ทั้งที่โจทก์ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทอยู่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่ไม่มีบุคคลใดเข้ามาจำหน่ายสินค้าในที่ดินของโจทก์ จึงฟ้องคดีเพื่อขอให้จำเลยยกเลิกคำสั่งห้ามบุคคลเข้ามาจัดจำหน่ายสินค้าในที่ดินของโจทก์ ตลอดจนห้ามจำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือออกคำสั่งใดเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะหยุดกระทำการละเมิด กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับโดยสั่งห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ ที่เป็นการรบกวนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) รวมถึงการสั่งให้จำเลยถือปฏิบัติต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้คดีนี้จะมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณาในข้อหาหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น หามีผลทำให้คดีซึ่งเป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งไปได้ไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นศาลปกครองจึงสามารถนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้ในการวินิจฉัย ข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่าอันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ประกอบกับจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองมิใช่เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ แต่เป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาที่สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทระหว่างผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินด้วยกันเองดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๒๓ ประกอบกับมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยจะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗๖๔ ตำบลบ้านลุ่ม อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี โดยทำประโยชน์เก็บค่าเช่าจากบุคคลที่นำสินค้าไปจัดจำหน่ายในที่ดินของโจทก์ จำเลยมอบหมายให้พนักงานของจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจเทศกิจประกาศคำสั่งของจำเลยห้ามไม่ให้บุคคลใดนำสินค้าไปจัดจำหน่ายในที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาดรายได้ค่าเช่าจากบุคคลที่นำสินค้าไปจัดจำหน่ายในที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยยกเลิกคำสั่งห้ามบุคคลเข้ามาจัดจำหน่ายสินค้าในที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยว ออกคำสั่งใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๕๗๖๔ เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี โดยโจทก์หรือบริวารไม่ได้ห้ามปราม เมื่อจำเลยจะทำการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กในที่ดินพิพาท โจทก์ก็ไม่คัดค้าน ทั้งได้ทำหนังสือยินยอมให้ก่อสร้าง ถือได้ว่าโจทก์ได้ยกที่ดินที่ถนนสาธารณะตัดผ่านให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) บัญญัติให้คดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น เมื่อคดีมีประเด็นข้อพิพาทที่ว่า ที่ดินเป็นของบุคคลใดยังไม่ยุติ จึงไม่อาจก้าวล่วงไปวินิจฉัยว่า การที่จำเลยออกคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในที่พิพาท เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเมื่อการวินิจฉัยว่า บุคคลใดเป็นผู้มีสิทธิในที่ดิน ไม่ใช่ คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๘ จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางพนิดา ปานใย โจทก์ เทศบาลเมืองบางกรวย จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน