คำวินิจฉัยที่ 125/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องนายอำเภอ ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบล ที่ ๒ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ที่ ๓ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวง ที่ ๔ กรมการปกครอง ที่ ๕ กรมเจ้าท่า ที่ ๖ กรมทางหลวง ที่ ๗ ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๙๐๑ และเลขที่ ๗๙๐๒ ได้ยื่นคำขอสอบเขตที่ดินทั้งสองแปลง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินอ้างว่า แนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันตกรุกล้ำลำรางสาธารณะ ด้านทิศตะวันออกรุกล้ำปากคลอง และด้านทิศใต้รุกล้ำถนน อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ เพิกถอนคำคัดค้าน และออกค่าใช้จ่ายในการรังวัด และชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ ให้การทำนองเดียวกันว่า ลำรางสาธารณะดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การไม่ลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๗ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำในฐานะผู้ดูแลรักษาที่สาธารณะเช่นเดียวกับการใช้สิทธิของเจ้าของที่ดินข้างเคียงในการระวังแนวเขตที่ดินอันเนื่องมาจากมีการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อมิให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงรังวัดสอบเขตที่ดินของตนรุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ ลำคลองและทางหลวง อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายอันจะเข้าลักษณะคดีพิพาท ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีนำชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share