คำวินิจฉัยที่ 1/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑/๒๕๔๙

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ นายธนพร แสงตระการกิจ โดยนายสมเกียรติแสงตระการกิจ ผู้แทนโดยชอบธรรม โจทก์ ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ บริษัท วัชรพล จำกัดที่ ๒ นายไพฑูรย์ สุนทร ที่ ๓ บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด ที่ ๔ นายประชา เหตระกูล ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๓๐๘/๒๕๔๘ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๖ เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ นาฬิกา มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งปาก้อนอิฐเข้าไปในรถโดยสารประจำทาง สาย ๑๔๗ ทำให้เด็กหญิงกาญจนา อินทรพันธ์ ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดบริเวณใต้สะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษก แขวงบางบอนเขตบางบอน กรุงเทพมหานครภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนควบคุมนักศึกษาและกลุ่มชายฉกรรจ์ที่อยู่ ณ ที่เกิดเหตุ ประมาณ ๓๐ คน รวมทั้งโจทก์ไปยังสถานีตำรวจดังกล่าวเพื่อสอบถามประวัติและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาพันตำรวจตรียุทธนา แจ่มกระจาย พนักงานสอบสวน(สบ.๒) สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน เจ้าของสำนวน ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ดำเนินการสอบสวนพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางออกหมายจับโจทก์โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการดำเนินการให้พยานชี้ตัวผู้กระทำผิด และด่วนสรุปสำนวนการสอบสวน กล่าวคือเด็กหญิงฐิตินันท์ แซ่กัง พยานให้การยืนยันว่าผู้ที่กระทำความผิดเป็นผู้ที่ถือก้อนอิฐด้วยมือข้างซ้ายพร้อมทั้งยืนยันว่ามีกลุ่มวัยรุ่นประมาณ ๓๐ คน ที่อยู่ ณ ที่เกิดเหตุ แต่แทนที่พันตำรวจตรียุทธนา จะนำภาพถ่ายของกลุ่มบุคคลที่ถูกควบคุม ๓๐ คน มาให้พยานชี้ตัวทั้ง ๓๐ ภาพ กลับนำภาพถ่ายและบุคคลมาให้พยานดูเพียง ๖ คน รวมทั้งโจทก์ ในการชี้ตัวและภาพถ่ายก็แสดงถึงพฤติการณ์โดยไม่ชอบ โดยทุกคนมีการสลับหมายเลขตลอด เว้นแต่โจทก์ยังคงให้ใช้หมายเลข ๒ นับแต่ตอนชี้ภาพและชี้ตัว ซึ่งพันตำรวจตรียุทธนา สามารถนำบุคคลมาให้พยานชี้ตัวได้ทั้ง ๓๐ คน แต่ไม่กระทำและเป็นการชี้นำให้พยานเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดทำให้โจทก์ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา และถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องและปล่อยตัวโจทก์ ทั้งยังทำให้โจทก์ถูกส่งเข้าโครงการละลายพฤติกรรมโดยอยู่ในความควบคุมและอบรมในค่ายทหารมีกำหนดกว่า ๒๐วันนอกจากนี้พันตำรวจตรียุทธนา และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในสำนวนนำข้อความอันเป็นเท็จไปกล่าวและไขข่าวให้แพร่หลายต่อประชาชนเพื่อแสดงให้เห็นผลงานว่าสามารถปิดคดีได้โดยเร็วต่อมาวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ ในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา นำข้อความที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนกล่าวหาโจทก์ว่าเป็นผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นความเท็จและภาพถ่ายของโจทก์โดยไม่ปกปิดใบหน้าทำให้บุคคลทั่วไปเชื่อและจดจำโจทก์ได้ ลงในหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “ไทยรัฐ” ฉบับปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๖๗๖๗ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๖ และจำเลยที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๕ ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” นำข้อความที่พนักงานสอบสวนได้เผยแพร่ดังกล่าว พร้อมทั้งภาพถ่ายลงหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “เดลินิวส์” ฉบับที่ ๑๙๗๘๙ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๖ การกระทำของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ และการเผยแพร่ข่าวสารของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากสังคม และขาดไร้ซึ่งอิสรภาพเพราะถูกควบคุมตัวไว้ที่บ้านเมตตาและถูกส่งตัวไปละลายพฤติกรรม ทั้งที่โจทก์มิใช่ผู้กระทำความผิด และถูกประณามจากสังคม ภายหลังจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยทั้งห้าเพื่อให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายและลงข้อความในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ให้ประชาชนทั่วไปทราบความจริงว่าโจทก์มิใช่ผู้กระทำความผิดซึ่งจำเลยทั้งห้าทราบแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันลงประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันชื่อไทยรัฐและเดลินิวส์ ถึงข้อความที่โจทก์มิได้เป็นผู้กระทำความผิดมีกำหนด ๗ วัน พร้อมกันทั้ง ๒ฉบับ โดยจำเลยทั้งห้าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ นั้น มิใช่เป็นกรณีที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางกายภาพโดยตรง หรือการปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้เป็นการเฉพาะ แต่ถือได้ว่าเกิดจากพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เนื่องจากเป็นเอกชนคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของจำเลยที่ ๑ กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการดำเนินการให้พยานชี้ตัวผู้กระทำผิดและด่วนสรุปสำนวนการสอบสวนว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกดำเนินคดีอาญา และนำข้อความอันเป็นเท็จไปกล่าวและไขข่าวให้แพร่หลายต่อประชาชนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้และประวัติของโจทก์และครอบครัว ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของพนักงานสอบสวนมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงตลอดถึงพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาและเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ซึ่งรวมถึงขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อให้พยานชี้ตัวผู้กระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๓๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การที่โจทก์เห็นว่าตนได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ย่อมเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้เป็นการเฉพาะจึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑๙/๒๕๔๕

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ โจทก์เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐและจากเอกชนด้วยกันอันเนื่องมาจากการทำละเมิด ซึ่งศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็น มีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า คดีในส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเอกชนนั้น อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใด
ในการดำเนินกิจการหรือการกระทำต่าง ๆ ของรัฐทุกระบบจะต้องถูกตรวจสอบได้โดยศาล สำหรับศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำทางปกครองซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่มีการฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการในการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในคดีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือในคดีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้า หรือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันเป็นการตรวจสอบการกระทำทางปกครอง ส่วนศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑ ซึ่งได้แก่ คดีแพ่ง คดีอาญา และคดีอื่นๆที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
การดำเนินคดีอาญานั้น เป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐคือ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการนั้นอาจมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย ขั้นตอนใดเป็นการกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำดังกล่าวจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่การกระทำใดที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการกระทำที่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำนั้นจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง
คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่า พนักงานสอบสวนเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๑ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการดำเนินการให้พยานชี้ตัวผู้กระทำความผิดอาญา ด่วนสรุปสำนวนการสอบสวนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกดำเนินคดีอาญา และนำข้อความอันเป็นเท็จไปกล่าวและไขข่าวให้แพร่หลายต่อประชาชนว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดอาญาก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ แม้ตามคำฟ้องโจทก์มุ่งประสงค์จะเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่พนักงานสอบสวนดำเนินการให้พยานชี้ตัวผู้กระทำความผิด ด่วนสรุปสำนวนการสอบสวน และนำข้อความอันเป็นเท็จไปกล่าวและไขข่าวให้แพร่หลายต่อประชาชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของพนักงานสอบสวนก็มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริงตลอดจนพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดอาญาที่ถูกกล่าวหา และเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหารวมทั้งขั้นตอนในการดำเนินการให้พยานชี้ตัวโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญา ทั้งการทำละเมิดด้วยการนำข้อความอันเป็นเท็จไปกล่าวและไขข่าวให้แพร่หลายต่อประชาชนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น ก็ไม่มีกฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจกระทำการดังกล่าวได้ คดีนี้จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง และไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายธนพร แสงตระการกิจ โจทก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ บริษัท วัชรพล จำกัด ที่ ๒ นายไพฑูรย์ สุนทร ที่ ๓ บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด ที่ ๔ นายประชา เหตระกูล ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน

Share